ยอดขายหนังสือมาแรงแซง‘อีบุ๊ค’

ยอดขายหนังสือมาแรงแซง‘อีบุ๊ค’

ถึงวันนี้หากตั้งคำถามว่า นักอ่านชอบแบบไหนมากกว่าระหว่างอีบุ๊คกับหนังสือคำตอบที่ได้อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะสิ่งพิมพ์แบบเก่ายังครองใจผู้คนส่วนใหญ่ไว้ได้

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างข้อมูลประจำปี2562 ของสมาคมสำนักพิมพ์อเมริกันเผยว่า ปี 2561 สิ่งพิมพ์ทุกชนิดในสหรัฐทำรายได้เกือบ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ตัวเลขดังกล่าวรวมถึงหนังสือเรียน หนังสือการค้า และเรื่องแต่ง

เมอริล ฮอลส์ กรรมการผู้จัดการสมาคมร้านหนังสือในสหราชอาณาจักรเผยว่า แม้สื่อดิจิทัลจะสร้างความปั่นป่วนให้กับทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรืออุตสาหกรรมเพลง แต่ผู้คนก็ยังหลงไหลหนังสือเล่ม

“ดิฉันคิดว่าฟองสบู่อีบุ๊คเริ่มแตกแล้ว ยอดขายนิ่ง ตอนนี้หนังสือเล่มน่าสนใจมาก สำนักพิมพ์ผลิตหนังสือดีๆ ออกมามากมายไม่น่าเชื่อ แถมหน้าปกยังสวยงามหรูหรา เป็นของมีคุณค่า” ฮอลส์กล่าวพร้อมเสริมว่า ผู้คนรักรูปลักษณ์ของสิ่งที่ตนอ่าน

“คนรักหนังสือรักที่จะจดจำสิ่งที่ตนเองอ่าน ฉันคิดว่าเป็นการบ่งบอกตัวตนของนักอ่านให้คนอื่นรู้ หนังสือเอาไว้ตกแต่งบ้านก็ได้ หรือเป็นของสะสมก็ได้ อาจเป็นเพราะว่า คนเราชอบความสมบูรณ์แบบ ก็เลยอยากบอกตัวตนให้โลกรู้จัก”

สำนักพิมพ์นีลเสนบุ๊คอินเตอร์เนชันแนลเผยว่า ถ้าเป็นเรื่องธรรมชาติ การทำอาหาร หรือเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กๆ นักอ่านนิยมอ่านจากหนังสือ แต่หากอ่านเรื่องอาชญากรรม นิยายรัก หรือเขย่าขวัญ พวกเขานิยมอ่านจากเครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์ โดยอเมซอนเปิดตัว“คินเดิล”เครื่องอ่านอีบุ๊คมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่สำหรับฮอลส์เธอมองว่า ยังมีคนที่โหยหาข้อมูลข่าวสาร แต่ก็อยากไปให้พ้นจากหน้าจอด้วย

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเบื่อการเมือง หลายคนอยากหนีไปให้พ้นๆ แต่ก็ยังอยากได้ข่าวสาร พวกเขาก็เลยเลือกหยิบสื่อสิ่งพิมพ์ เหตุผลค่อนข้างซับซ้อนอยู่นะ มันเป็นเรื่องของอารมณ์ด้วย อ่านจากเครื่องอ่านอีบุ๊คแล้วไม่ได้อารมณ์เท่าอ่านหนังสือ”

หลายครั้งที่คนรุ่นมิลเลนเนียลตกเป็นแพะรับบาปว่าไม่อ่านหนังสือ ทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ถึงกาลอวสาน แต่แท้จริงแล้วคนหนุ่มสาวนี่ล่ะ ที่นิยมสื่อสิ่งพิมพ์ ผลการสำรวจของนีลเส็นพบว่า ยอดขายหนังสือในอังกฤษ 63% มาจากนักอ่านอายุไม่ถึง 44 ปี ขณะที่ยอดขายอีบุ๊ค 52% มาจากนักอ่านอายุตั้งแต่ 45 ขึ้นไป

สถานการณ์ในสหรัฐก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ศูนย์วิจัยพิวพบว่า เมื่อปี 2560 ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี อ่านหนังสือ 75% สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 67%

ในอนาคตผู้คนยังต้องการหนังสือในทุกรูปแบบ แจ็คส์ โทมัส ผู้อำนวยการลอนดอนบุ๊คแฟร์ กล่าวว่า คนเราต้องการทั้งความรู้และเรื่องสนุก ด้วยเหตุนี้เขาจึงมั่นใจว่า อุตสาหกรรมหนังสือยังแข็งแกร่งมาก

“ดิฉันอยากเห็นมากว่า ห้องเรียนในอนาคตจะหน้าตาเป็นยังไง เพราะมันบอกเราได้ว่าคนรุ่นหน้าจะสนใจอะไร ระหว่างตัวหนังสือกับคำพูด แต่ยังไงซะก็ต้องเป็นเรื่องราวและความรู้ หนังสือจำเป็นต้องมีเรื่องพวกนี้ หนังสือไม่ว่าจะในรูปแบบไหนยังมีอนาคตสดใส”