กสทช.เตรียมแบ่งกลุ่มอุตฯนำร่อง “5จี”

กสทช.เตรียมแบ่งกลุ่มอุตฯนำร่อง “5จี”

“ฐากร”ระบุรายงานผล เอทีอาร์ซี เร่งผลักดัน 5จีในภูมิภาคให้นายกฯ รับทราบแล้ว หลังเพื่อนบ้านเล็งเปิดบริการกลางปี 63 ระบุเตรียมตั้งคณะกรรมการฯระดับชาติเสนอแนวคิดพร้อมนำไปประยุกต์ใช้ เบื้องต้นคาดมีกรรมการนั่ง 10-15 คน กำหนด 5 กลุ่มนำร่อง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รายงานผลการประชุมผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน หรือการประชุมอาเซียน เทเลคอมมูนิเคชั่น เร็กกูเลเตอร์ เคานซิล (เอทีอาร์ซี) และความคืบหน้าการดำเนินการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จี ในภูมิภาคอาเซียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมไปแล้วนั้น

โดยได้รายงานให้รับทราบว่าขณะนี้ เวียดนาม สิงคโปร์​ และมาเลเซีย​จะเปิดให้บริการ 5จี เชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2563 จึงมีความกังวลในกรณีที่นักลงทุนจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศนั้นๆ ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการขับเคลื่อน​เศรษฐกิจ​ ซึ่งความตั้งใจของสำนักงานกสทช.คือต้องการจะให้การดำเนินการ 5จีได้อย่างเป็นเอกภาพและมีความเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ล่าสุดคณะทำงานขับเคลื่อน 5จีระดับชาติของนายกรัฐมนตรี​อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล โดยได้สอบถามถึงแนวคิดในการนำเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าว รวมถึงพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีว่า จะมอบหมายให้หน่วยงานใดเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการบ้าง โดยเบื้องต้นคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติ มีคณะทำงาน 10-15 คน ประกอบด้วยหน่วยงาน​ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันและให้เห็นว่าเพราะ 5จี จะเกิดประโยชน์อย่างมากในหลายอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องดึงหน่วยงานที่จะได้รับประโยชน์ ​เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน ทั้งนี้ มองว่าการจัดตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ จะทำให้การทำงานไม่คล่องแคล่ว ส่งผลให้การขับเคลื่อน​เป็นไปด้วยความล่าช้า และจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันประเทศเพื่อนบ้าน”

นายฐากร กล่าวว่า หากการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติ ผ่านการเห็นชอบแล้ว เมื่อกสทช. จัดการประมูลคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่พร้อมใช้งาน แต่ละหน่วยงานอาจต้องนำเสนอว่า จะนำ 5จีไปใช้งานในด้านใดบ้าง ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอ​เปอเร​เตอร์)​ สามารถลงทุน​ขับเคลื่อน​ได้อย่าง​ตรงจุด

“มองว่า การผลักดันให้ 5จีเกิดขึ้น​พร้อมกันทั่วประเทศ​เป็นเรื่องยาก ฉะนั้น จึงควรเริ่มจาก 5 ภาคส่วน (เซกเมนต์)​ ที่สำคัญ​ๆ ก่อน ได้แก่ ภาคการเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม, การสาธารณสุข, การขนส่ง และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท​ซิตี้) เพื่อให้ 5จีเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาและลดต้นทุนในแต่ละภาคส่วนได้ก่อน ดีกว่าจะรอให้เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งก็จะรอกันไปกันมา” นายฐากร กล่าว