'นิคม' จี้ 'ประยุทธ์' รับผิดชอบฐานกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ

'นิคม' จี้ 'ประยุทธ์' รับผิดชอบฐานกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ

"ส.ส.พปชร." แย้งญัตติฝ่ายค้านไม่มีอำนาจตรวจสอบเขตพระราชอำนาจ ปรามให้หยุด ก่อนถูกยื่นสอบ "นิคม" จี้ "ประยุทธ์" ลาออก ด้าน "ชวน" ย้ำที่ประชุมอภิปรายในกรอบ-ยึดข้อบังคับเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.62 นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ เพื่ออภิปรายในญัตติซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านใช้สิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 อภิปรายเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบฐานกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ

จากนั้นเป็นลำดับของส.ส.พรรครัฐบาล โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายโต้แย้งถึงญัตติของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ว่าไม่ใช่การซักถาม แต่เป็นการตรวจสอบการทำงานของ ครม. ดังนั้นเมื่อมีการตรวจสอบขอให้ตระหนักต่อความเห็นตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ ที่ระบุว่าเป็นการกระทำทางการเมืองระหว่างรัฐบาลฐานะฝ่ายนบริหารกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องเขตพระราชอำนาจ และไม่มีฝ่ายใดก้าวล่วงได้ การถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นการแสดงความจงรักภักดี และกระทำต่อหน้าพระมหากษัตริย์คือเขตพระราชอำนาจอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้วไม่มีใครตรวจสอบได้ ทั้งนี้ตนยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์​มีความจงรักภักดีอย่างไม่มีใครเทียบได้

“ดังนั้นทุกฝ่ายต้องหยุด ไม่ก้าวล่วงเขตพระราชอำนาจ หรือพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ตามหฎหมาย ผมเป็นห่วงฝ่ายค้านที่จะถูกตรวจสอบ การกระทำที่ไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจแต่ยังทำ อาจมีคนสงสัยยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือมีกระบวนการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ คิดหรือว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปในทางอื่น เพราะท่านไม่รับคำร้อง ส่วนที่จะยื่นเรื่องผิดจริยธรรม ต่อศาลฏีกา ผมยิ่งเป็นห่วง” นายไพบูลย์ อภิปราย

ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ชี้แจงโดยย้ำกับที่ประชุมให้อภิปรายในประเด็นตามญัตติที่เสนอ คือ การซักถามข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภากำหนดรายละเอียดไว้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าสภาฯ สามารถเดินหน้าพิจารณาญัตติดังกล่าว ตามมาตรา 152 ได้ เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญพร้อมคำอธิบายประกอบนั้นไม่มีผลผูกพันต่อองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่ ส.ส. อภิปรายทำนองขับไล่ หรือ หรืออภิปรายเกินเลยขอให้ยึดตามประเด็นที่ญัตติเสนอตามมาตรา 152 และยึดตามข้อบังคับ รวมถึงไม่อภิปรายซ้ำประเด็นเพื่อประหยัดเวลา