ศูนย์วิจัยกสิกรเก็งเฟดลดดอกเบี้ยอีก 0.25%

ศูนย์วิจัยกสิกรเก็งเฟดลดดอกเบี้ยอีก 0.25%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ต้องจับตาการเปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจครั้งใหม่ของเฟด

ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 17-18 กันยายน 2562 เฟดเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากตลาดการเงินที่คาดหวังถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางประเด็นสงครามการค้าที่แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณบวกเล็กน้อยจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีน แต่ยังมีความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีที่มีการเก็บไปแล้วอยู่ ขณะที่ภาพของเศรษฐกิจจริง แม้ว่าจะมีสัญญาณชะลอลงบ้าง แต่ในภาพรวมยังคงค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งนี้ ดังนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จากระดับ 2.00-2.25% ไปสู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 17-18 กันยายนนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีทิศทางชะลอลง โดยเฉพาะภาคการผลิตและการจ้างงาน ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ฯที่อัตรา 15% กดดันภาคการผลิตทั่วโลกและส่งผลให้ดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวในภาคการผลิต ขณะที่ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าก็เริ่มส่งผลให้ตลาดแรงงานขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ขยายตัวชะลอลงจากค่าเฉลี่ย 3 เดือนที่ 1.6 แสนตำแหน่งเหลือ 1.3 แสนตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2562

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่องในปีก่อนหน้า อยู่บนสมมุติฐานที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ แข็งแกร่งกว่าภาพความเป็นจริง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้มีการแก้ไขตัวเลขการจ้างงานรวมนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ลงรวมแล้วกว่า 5 แสนตำแหน่งในปีที่ผ่านมา ซึ่งผลของการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวอาจจะสะท้อนถึงมุมมองของตลาดแรงงานที่ดีเกินไปในปีก่อนหน้า อันส่งผลให้เฟดเร่งการปรับขึ้นในอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะที่ค่อนข้างเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นอีกตัวแปรที่ยังสนับสนุนให้เฟดเพิ่มระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางขนาดใหญ่ ภายใต้บริบทที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศแข็งแกร่ง มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และไม่ได้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าในสัดส่วนที่สูง เช่น ประเทศไทย มีความน่าสนใจในการดึงดูดเงินทุนไหลเข้า อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบายการเงินคงจะพิจาณาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศในการการดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารกลางขนาดใหญ่โดยลำพัง ซึ่งทำให้คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงไม่ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดในทันที แต่คงจะรอติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน

ปัจจัยความไม่แน่นอนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง โดยความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนยังคงมีความเสี่ยงจะถูกจัดเก็บเพิ่มเติม หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงทางการค้าในระยะเวลาอันใกล้ นอกจากนี้ สถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดอีกครั้ง อาจเป็นปัจจัยที่ส่งให้ให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น อันเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวเพิ่มเติม

มองไปข้างหน้า จับตาการส่งสัญญาณมุมมองเศรษฐกิจอันใหม่ของเฟด รวมทั้งพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อการส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะข้างหน้า ดังนี้

เจ้าหน้าที่เฟดน่าจะส่งสัญญาณว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงมาน่าจะมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ แม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดบางท่านมีความเห็นสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้ แต่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คงส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปลายปีนี้ที่ระดับ 1.75-2.00% เป็นระดับที่เหมาะสมและน่าจะเพียงพอในการเป็นหลักประกันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฟดไม่น่าที่จะมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากนักต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างคาดการณ์ต่อตลาดการเงิน อันจะส่งผลให้ความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้ามีน้อยลง

ในส่วนของมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจ เฟดอาจจะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าลงเล็กน้อย การปรับลดมุมมองเศรษฐกิจของเฟดไม่น่าจะมีนัยสำคัญมากนัก เนื่องจากเฟดยังคงมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับที่ค่อนข้างดี ขณะที่การส่งสัญญาณดังกล่าวเป็นการสะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องชี้ด้านการลงทุน ตลอดจน ภาคบริโภค คงเป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจที่เฟดคงให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีการค้ารอบล่าสุดที่อัตราภาษี 15% ซึ่งมีผลในวันที่ 1 กันยายนเนื่องจากการขึ้นภาษีรอบนี้ครอบคลุมสินค้าอุปโภคและบริโภคกว่า 40% อาจสะท้อนผ่านภาคการบริโภคที่เป็นสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าผลกระทบจากสงครามการค้าจะส่งผ่านมายังภาคเศรษฐกิจจริงมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนประเด็นสงครามการค้าที่อาจมีการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้น อาจจะเป็นประเด็นที่กดดันให้การลงทุนมีโอกาสชะลอลงอีก ซึ่งภาพการลงทุนที่ชะลอลงคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในระยะต่อไป โดยหากเครื่องชี้ในภาคเศรษฐกิจดังกล่าวมีทิศทางปรับแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า คงเปิดโอกาสให้เฟดพิจารณาความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายหากจำเป็น

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ธนาคารกลางอื่นๆ มีการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยภายใต้บริบทที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศแข็งแกร่ง มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และไม่ได้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าในสัดส่วนที่สูง เช่น ประเทศไทย มีความน่าสนใจในการดึงดูดเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากสกุลเงินดังกล่าวเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยโดยเปรียบเทียบ ซึ่งประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินของไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินคงจะพิจารณาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศในการการดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารกลางขนาดใหญ่โดยลำพัง ซึ่งทำให้คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงไม่ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดในทันที แต่คงจะรอติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน