ปลดที่ปรึกษาสายเหยี่ยวสัญญาณสหรัฐเน้นการทูต

ปลดที่ปรึกษาสายเหยี่ยวสัญญาณสหรัฐเน้นการทูต

ขณะที่โบลตันยืนยันว่า เขาเป็นฝ่ายขอสละตำแหน่งเอง ไม่ได้ถูกทรัมป์ไล่ออกอย่างที่หลายคนเข้าใจ

การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ประกาศปลด “จอห์น โบลตัน” นักการเมืองสายเหยี่ยวออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายของทรัมป์ เพื่อหันมาเน้นเจรจาทางการทูตกับชาติคู่อริ

“ผมได้บอกกับจอห์น โบลตัน เมื่อคืนนี้ว่าไม่ต้องการให้เขาทำงานในทำเนียบขาวอีกต่อไป ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำแนะนำของเขาในหลายเรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคนก็คิดเหมือนกัน” ทรัมป์ ประกาศผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (10 ก.ย.) และบอกว่าจะเสนอชื่อที่ปรึกษาด้านความมั่นคงคนใหม่ภายในสัปดาห์หน้า

โบลตัน เคยเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายควบคุมอาวุธและกิจการความมั่นคงระหว่างประเทศในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และผลงานซึ่งเป็นที่อื้อฉาวที่สุดของเขา คือการออกมาสนับสนุนข้อมูลที่ว่าประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรัก ซุกซ่อนอาวุธทำลายล้างสูง จนมีส่วนทำให้บุชตัดสินใจส่งทหารบุกอิรักในปี 2546 และโค่นรัฐบาลซัดดัมได้สำเร็จ

ผลจากการบุกอิรักครั้งนั้นทำให้ซัดดัมถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในปี 2549 และสหรัฐ ต้องสูญเสียทหารไปราว 4,400 นาย แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่พบอาวุธร้ายแรงตามที่มีการกล่าวหา ทำให้สหรัฐถูกวิจารณ์ว่าใช้ข่าวกรองปลอมมาเป็นข้ออ้างเข้าไปกอบโกยน้ำมันจากอิรัก

นักการเมืองสายเหยี่ยวผู้นี้ยังถูกมองว่าเป็นต้นเหตุทำให้การประชุมซัมมิตครั้งที่ 2 ระหว่างทรัมป์ กับ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือที่กรุงฮานอยเมื่อเดือน ก.พ. ไม่ประสบความสำเร็จ

มีกระแสข่าวว่า โบลตันเป็นคนรบเร้าให้ทรัมป์ยื่นเงื่อนไขให้เกาหลีเหนือยอมส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดให้สหรัฐ เพื่อแลกกับการผ่อนคลายคว่ำบาตร ซึ่งก็เป็นที่คาดเดาได้อยู่แล้วว่าเปียงยางต้องไม่ยอม และสุดท้ายการประชุมต้องปิดฉากลงด้วยความล้มเหลว

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธ (11 ก.ย.) ว่า โบลตันทำผิดพลาดหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเสนอให้สหรัฐใช้ “ลิเบียโมเดล” กับเกาหลีเหนือ

ปมขัดแย้งล่าสุดซึ่งน่าจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจขับโบลตันออกจากคณะบริหารก็คือ การที่เขาคัดค้านแผนเชิญผู้นำตาลีบันมาเปิดเจรจาสันติภาพที่แคมป์เดวิด

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวซึ่งระบุว่า ทรัมป์ไม่พอใจอย่างมากที่โบลตันปล่อยข่าวว่ารองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ไม่สนับสนุนให้เชิญผู้นำตาลีบันมาที่แคมป์เดวิด และการที่โบลตันทำเช่นนี้เท่ากับหักหน้าทรัมป์ด้วยการส่งสัญญาณว่าแม้แต่รองประธานาธิบดีก็ยังต่อต้านแผนของทรัมป์

รัฐบาลทรัมป์เปลี่ยนตัวที่ปรึกษาด้านความมั่นคงมาแล้วถึง 3 ครั้ง เริ่มจาก ไมเคิล ฟลินน์, เอช.อาร์. แมคมาสเตอร์ และโบลตัน รายล่าสุด

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ยอมรับว่า เขามีมุมมองขัดแย้งกับโบลตันอยู่หลายเรื่อง แต่ย้ำว่าการปลดโบลตัน ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะปรับเปลี่ยนนโยบายการทูตแบบพลิกฝ่ามือ

ด้านแฮร์รี คาเซียนิส ผู้อำนวยการอาวุโสของศูนย์เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ มองว่า ทรัมป์ตัดสินใจถูกต้องที่ปลดโบลตันออกจากทำเนียบขาว เพราะจะทำให้เขาได้มีโอกาสหาผู้ช่วยคนใหม่ที่ต่อต้านสงคราม สนับสนุนการลดบทบาทในตะวันออกกลาง ส่งเสริมการเจรจากับเกาหลีเหนือ และหันไปเน้นต่อต้านอิทธิพลของจีนมากขึ้น

ส่วนร็อบ มัลลีย์ ประธานบริษัทที่ปรึกษา อินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป บอกว่า ทรัมป์อาจปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่ออัฟกานิสถาน อิหร่าน เกาหลีเหนือ และเวเนซุเอลา หลังจากไม่มีผู้ช่วยที่กระหายสงครามอย่างโบลตันคอยเป่าหูอีกต่อไป