'กมธ.ทางด่วน-บีทีเอส' เสนอรายงานแล้ว พบหนุนต่อสัมปทานทางด่วน-ค้านต่อสัญญาบีทีเอส

'กมธ.ทางด่วน-บีทีเอส' เสนอรายงานแล้ว พบหนุนต่อสัมปทานทางด่วน-ค้านต่อสัญญาบีทีเอส

"กมธ.ทางด่วน-บีทีเอส" เสนอรายงานแล้ว พบหนุนต่อสัมปทานทางด่วน-ค้านต่อสัญญาบีทีเอส แจงหนุนให้สัมปทานทางด่วน เหตุมั่นใจ "เอกชน" บริหารงานมีประสิทธิภาพ เสนอให้แบ่งต่อสัญญาเป็น 2 ระยะ เพื่อพิจารณาเงื่อนไข-ผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะ ประธานกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้นำเสนอรายงานการพิจารณาเรื่องดังกล่าวหลังจากที่ได้พิจารณาแล้วเสร็จต่อที่ประชุมสภาฯและ ได้รับการบรรจุไว้ในลำดับที่ 4 เรื่องที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญของรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่าได้แบ่งการศึกษา เป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องการพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน และ เรื่องการพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส โดยส่วนของการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติม 30 ปี เสียงกมธ. ส่วนใหญ่ จำนวน 21 คนเห็นด้วยกับสัญญาสัมปทานดังกล่าว เพื่อยุติข้อพิพาทมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท ใน 3 สัญญา คือ โครงการทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่2 ส่วนเอ บี และซี), โครงการทางพิเศษศรีรัช (ส่วนดี) และ โครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (สายบางปะอิน-ปากเกร็ด) ขณะที่กมธ. อีกจำนวน 12 คนไม่เห็นด้วย, กมธ. อีก 5 คนงดออกเสียงและสงวนความเห็นและกมธ. จำนวน 1 คนลาการประชุม

สำหรับความเห็นของกมธ.เสียงข้างมากที่เห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทานนั้น สรุปได้ว่าเพื่อยุติข้อพิพาทตามแนวทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเห็นว่าการบริหารจัดการ 15 ปีแรกนั้น เอกชนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำวินิจฉัยให้การทางพิเศษฯ แพ้ไปแล้ว 1 คดี ส่วนกรณีการขยายสัญญาสัมปทาน เพิ่มเติม 30 ปีนั้น กมธ.ฯ​เห็นว่าควรแบ่งการพิจารณาออกเป็น ต่อให้ระยะแรกไม่เกิน 15 ปี เพื่อพิจารณาเงื่อนไขที่เหมาะสมและไม่ให้ทำรัฐเสียเปรียบเอกชน ขณะที่สัญญาใน 15 ปีหลังต้องเจรจาลดผลประโยชน์ของเอกชนลง เพราะไม่มีการลงทุนเพิ่ม

“กมธ.เสียงข้างมากยังเสนอให้รัฐบาลตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้กระทำผิดที่ทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยลงนามสัญญาสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด และอนุมัติการต่อขยายโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ และขอให้พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติอุนญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่ให้ใช้บังคับต่อสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน โดยให้เสนอข้อพิพาทต่อศาลปกครองโดยตรง เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาทุกประเด็นในสัญญา” รายงานของกมธ.ระบุ

ขณะที่ เรื่องการพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส มติของกมธ.ฯ เสียงส่วนใหญ่ 19 เสียงไม่เห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทาน, กมธ. จำนวน 12 คนเห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทาน และกมธ.6 เสียง งดออกเสียง

สำหรับความเห็นของกมธ.​เสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วยนั้นเพราะไม่ตรงกับหลักการของการร่วมลงทุนในกิจการจัดทำบริการสาธารณะ ที่รัฐต้องทำให้ทรัพย์สินที่เอกชนร่วมลงทุนโอนกลับเป็นของรัฐโดยเร็วที่สุดตามอายุสัญญาสัมปทาน, การขยายสัญญาสัมปทานอาจทำให้เป็นปัญหากับบีทีเอสสายอื่นๆ ที่เชื่อมต่อ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ รวมถึงมีปัญหาเรื่องค่าโดยสารที่มีราคาแพง และปัญหาตั๋วร่วม พร้อมกับเสนอให้เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ทรัพย์สินจะต้องโอนให้เป็นของรัฐ เพื่อให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีคุณภาพและราคายุติธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพ ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้สินของกรุงเทพมหานครที่เกิดกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น ควรใช้วิธีออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หรือกองทุนออกขายให้แก่ประชาชนเพื่อระดมทุนได้