กสร. ขอความร่วมมือนายจ้าง ช่วยลูกจ้างน้ำท่วม

กสร. ขอความร่วมมือนายจ้าง ช่วยลูกจ้างน้ำท่วม

กสร. ออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างช่วยเหลือลูกจ้างบ้านน้ำท่วม จากผลกระทบพายุโพดุล เผยสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบ 8 จังหวัด 53 แห่ง กระทบลูกจ้างกว่า 7,586 คน ย้ำนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือ ร่วมแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ที่กระทรวงแรงงาน นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร) แถลงประกาศขอความร่วมมือนายจ้าง ช่วยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโพดุล ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยและภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชน สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้างได้รับผลกระทบไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานได้ตามปกติ

นายวิวัฒน์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ล่าสุดจากการสำรวจพบว่า จังหวัดที่มีสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร น่าน และร้อยเอ็ด สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจำนวน 53 แห่ง ลูกจ้างรวม 7,586 คน มีสถานประกอบกิจการที่ให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว 1 – 2 วัน จำนวน 16 แห่ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจำนวน 8 แห่ง ยโสธร 3 แห่ง พิษณุโลก 3 แห่ง (เป็นโรงสีข้าว 2 แห่ง) มุกดาหาร 1 แห่ง และ น่าน 1 แห่ง จำนวนลูกจ้างรวม 1,867 คนนอกจากนี้ ยังพบว่ามีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เช่น บ้านเรือนถูกน้ำท่วม เส้นทางตัดขาดไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ จำนวน 744 คน จากสถานประกอบกิจการ 34 แห่ง

“สำหรับ 16 บริษัท ที่หยุดชั่วคราวส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างแรงงานปกติ อาจจะมีในส่วนของร้านค้าขนาดเล็กที่เป็นเหตุสุดวิสัย และอาจจะกำลังไม่พอ อย่างไรก็ตาม เราได้ขอความร่วมมือในเรื่องการลาของแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย และไปทำงานไม่ได้ จึงขอความร่วมมือเรื่องการคิดเวลางาน เพราะเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่มา แต่เขามาไม่ได้” นายวิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กสร. ได้ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อขอความร่วมมือนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบสมารถหยุดงานไต้โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิด และขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย ได้แก่

กรณีที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้รับผลระทบจากภัยธรมชาติเป็นเหตุให้เดินทางไปทำงานไม่ใด้ หรือมาทำงานสาย ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง ขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดภัยธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย และขอให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ได้ร่วมมือปฏิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ ในสถานประกอบกิจการเพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย

 

นอกจากนี้ ขอให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ร่วมมือกับนายจ้างในการดูแล และสนับสนุนการจัดสวัสติการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยตามความเหมาะสม ขอให้เครือข่ายด้านแรงงานติดตามข้อมูลข่าวสารจากลูกจ้างผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงานทราบ และประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือตามความเหมาะสม รวมถึงขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรแรงงานปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยหลักสุจริตใจ เพื่อเสริมสร้างสันติสุขในการบริหารแรงงาน

ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ประสบภัย เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จนส่งผลเกี่ยวกับการทำงานและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ เราพยายามที่จะเข้าไปดูแลเพื่อให้เขาอยู่ด้วยกันได้อย่างดีที่สุด เพราะลูกจ้างเองก็ประสบปัญหา และนายจ้างเองก็ขายไม่ได้ บ้านก็ต้องซ่อม ดังนั้น เราจึงพยายามดูแลในส่วนที่เรารับผิดชอบให้ดีที่สุด ซึ่งหลังจากพายุลูกใหม่เข้ามา จะมีการสำรวจความเสียหายจำนวนสถานประกอบการและลูกจ้างอีกครั้ง” นายวิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย