ผันผวน รอปัจจัยใหม่

ผันผวน รอปัจจัยใหม่

คาด SET แกว่งตัวในกรอบ 1,645 - 1,660 จุด จากภาวะตลาดขาดปัจจัยหนุนในช่วงนี้

ลาดหุ้นวานนี้: SET Index วานนี้แกว่งตัวแคบ -0.81 จุด (-0.05%) ปิดที่ระดับ 1,654 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่กระตุ้นการลงทุนประกอบกับมีความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวหลังสหรัฐ-จีนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าตามกำหนด 1 ก.ย.ที่ผ่านมา อีกทั้งมีแรงขายกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงกดดันทิศทางดัชนี ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,131 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดพันธบัตร 2,538 ล้านบาท แต่ Net Long TFEX จำนวน 1,649 สัญญา

แนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้: เรามีมุมมองเป็นกลางคาด SET แกว่งตัวในกรอบ 1,645 - 1,660 จุด เนื่องจากภาวะตลาดขาดปัจจัยหนุนในช่วงนี้ โดยแม้ว่าจะได้แรงหนุนจากคาดการณ์ ECB และ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมช่วงกลางเดือนนี้ รวมถึงความคาดหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนรอบใหม่ที่จะจัดขึ้นในเดือนก.ย. อย่างไรก็ตามการเจรจาที่ยังไม่สามารถกำหนดวันที่แน่นอน ประกอบกับเงินหยวนของจีนล่าสุดอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 11 ปีที่ 7.17 Yuan/USD บ่งบอกถึงความกังวลภาวะ Trade war และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยยังคงอยู่ ซึ่งส่งผลให้ Fund Flow ต่างชาติยังคงไหลออกและเป็นตัวถ่วงต่อภาวะการลงทุน

กลยุทธ์การลงทุน: Selective Buy

  • กลุ่มเดินเรือ (PSL, TTA ) ค่าระวางขึ้นทำ High ในรอบ 9 ปีล่าสุด 2,442 จุด
  • กลุ่มไฟแนนซ์ (MTC, SAWAD, THANI) ได้ประโยชน์ต้นทุนลดลงจากทิศทางดอกเบี้ยขาลง รวมถึง sentiment บวกจากธปท.ยังไม่นำมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (DSR limit) มาใช้ในปีนี้
  • กลุ่มนิคมฯ (AMATA, WHA)  บอร์ด EEC เตรียมนำร่างผังใช้ประโยชน์ที่ดินใน EEC เข้าครม.
  • หุ้น Defensive stock (INTUCH, ADVANC, BEM, BTS, BDMS, BCH, CHG, GPSC, BGRIM, TPCH, TTW, CPALL)

หุ้นแนะนำวันนี้ : CKP (ปิด 6.25 ซื้อ/เป้า สูงสุด Bloomberg Consensus 6.7) เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากฝนตกหนักเพราะมีรายได้หลักมาจากการผลิตไฟฟ้าเขื่อนพลังน้ำ ด้านผลประกอบการคาดกำไรสุทธิจะทยอยเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ 3Q19 ซึ่งเป็นไฮซีซั่น และ 4Q19 จะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในประเทศลาวเข้ามาเป็นไตรมาสแรก ซึ่งบริษัทจะเริ่ม COD อย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค.19 เป็นต้นไป, PTG (ปิด 21.6 ซื้อเก็งกำไร/เป้า IAA Consensus 23.5 บาท) ได้ Sentiment จากข่าวกบง.กำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐานแทน B7 คาดหนุนความต้องการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นมอง PTG ได้ประโยชน์มากสุดเพราะมีสถานีบริการเป็นของตนเอง ทำให้มีดีมานด์รองรับ และไม่ถูกกดราคาจากผู้ซื้อตามมาตรา 7 (กลุ่มสถานีบริการ)

KSS report วันนี้: -

ประเด็นสำคัญวันนี้:

  • (+/-) อัตราเงินเฟ้อไทยเดือน ส.ค.ลดลงสู่ระดับ 0.52% รวม 8 เดือนแรกอยู่ที่ 0.87% ยังต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของแบงก์ชาติที่ 1-4%: กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) เดือน ส.ค.ลดลงสู่ระดับ 0.52% จาก 0.98% ในเดือน ก.ค.และเมื่อรวม 8 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.87% ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของแบงก์ชาติที่กำหนดไว้ที่ 2.5+/-1.5% หรือเคลื่อนไหวในกรอบ 1-4% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลง ส่วนใหญ่มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงตามทิศทางของราคาน้ำมัน (ส.ค.18 WTI เฉลี่ยที่ระดับ 65-70$/bbl แต่ปีนี้อยู่ที่ระดับ 55$/bbl) อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำแม้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่แบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยในครั้งที่ผ่านมา แต่สำหรับการประชุมในเดือนนี้ (18 ก.ย) คาดว่าแบงก์ชาติจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ตามเดิมก่อน จาก 1) รอดูผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 3.2 แสนล้านบาทที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือน ก.ย. และ 2) การลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงและเร็วเกินไป จะทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเปราะบางลงในอนาคต จากพฤติกรรม “search for yield” และการออมภาคครัวเรือนที่ลดลง
  • (+) ดัชนี PMI ของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะจีนกลับมายืนเหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาคการผลิตที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ยุโรปยังน่าเป็นห่วง: โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนซึ่งจัดทำโดยไฉซิน ในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.4 จาก 49.9 ในเดือน ก.ค.นับเป็นการเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน (ดัชนีที่ยืนเหนือ 50 บ่งชี้ถึงกิจกรรมการผลิตที่มีการขยายตัว) ส่วนภูมิภาคอื่นๆ อาทิ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปก็เห็นสัญญาณฟื้นตัวเช่นกันแต่โดยรวมยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหภาพยุโรปเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47 จาก 46.5 ในเดือน ก.ค.บ่งชี้ว่าภาคการผลิตในสหภาพยุโรปยังอยู่ในภาวะหดตัว ทำให้ตลาดเริ่มคาดหวังว่าการประชุมของ ECB ในวันที่ 12 ก.ย.อาจจะมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยและนำ QE กลับมาใช้