กรม สบส.ประสาน อสม.-อสค.ร่วมดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ในพื้นที่น้ำท่วม

กรม สบส.ประสาน อสม.-อสค.ร่วมดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ในพื้นที่น้ำท่วม

กรม สบส.ประสาน อสม.-อสค.ร่วมดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม

นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำ) “โพดุล” ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน อีกทั้ง ในระหว่างวันที่ 2-3 กันยายนนี้ จะมีพายุระดับ 2 (ดีเปรสชั่น) “เหล่งเหลง” เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย กรม สบส.มีความเป็นกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย ความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งประสานขอความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) ช่วยดูแลเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง  ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ป้องกันอาการกำเริบและปัญหาการขาดยาของผู้ป่วย และมอบหมายให้ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 เฝ้าระวังสถานการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดกับสถานพยาบาล ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมสถานพยาบาลจะต้องพร้อมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือโดยทันที

นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดเหตุอุทกภัยนี้ตนขอแนะให้ผู้ปกครองที่มีเด็กอยู่ในครอบครัว ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งมักมักจะชอบลงเล่นน้ำท่วมขัง อาจเกิดการสำลักน้ำทำให้เชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำท่วมเข้าไปในปอดทำให้เกิดการอักเสบเป็นโรคปอดบวม หรืออาจเกิดอุบัติเหตุเด็กพลัดตกน้ำถึงแม้ว่าน้ำจะตื้นก็ตามแต่ด้วยการที่เด็กเล็กยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตจากการจมน้ำได้ ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยเด็กลงเล่นน้ำที่ท่วมขัง หรืออยู่ตามลำพังใกล้บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง และหากสังเกตพบว่าเด็กมีอาการไข้สูงเกิน 2 วัน  ไอ หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกเวลาไอ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรักษาทันที