‘ปาลังการายา’เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย โอกาสธุรกิจไทย

‘ปาลังการายา’เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย โอกาสธุรกิจไทย

อินโดนีเซียจะเริ่มก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ในกาลิมันตันตะวันออก ในปี 2563 โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ

“เมืองปาลังการายา”เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในจ.กาลิมันตันตะวันออกและยังเป็นที่รู้จักว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะบอร์เนียวติดอยู่กับพรมแดนมาเลเซียห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือหลายร้อยกิโลเมตร

ดินแดนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ ถ่านหิน และปาล์มน้ำมัน จัดว่า มีศักยภาพดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนที่นั้น

ทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์ว่านักธุรกิจไทยสามารถเข้าไปแสวงหาโอกาสการลงทุนได้ในมหานครแห่งใหม่ของอินโดนีเซียซึ่งโครงการพัฒนาเมืองปาลังการายาเป็นโปรเจคระยะยาว 5-10 ปี ตั้งอยู่นอกเขตวงแหวนแห่งไฟ ทำให้ไม่ต้องกังวลในการประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว และภูเขาปะทุ โดยปัจจุบันบริษัท ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและบริษัทบ้านปูได้เข้าไปลงทุนทำเหมืองถ่านหินที่เมืองปาลังการายา ขณะที่บริษัทศรีตรัง ได้เข้าไปทำโรงงานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว และธุรกิจสินค้ายางธรรมชาติแบบครบวงจร

“หลังจากที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำอินโดนีเซียสมัยที่ 2 ได้เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นถนนทางหลวงเส้นทางรถไฟฟ้า และท่าเรือ เพื่อต้องการเชื่อมพื้นที่เกาะทั่วประเทศเข้าด้วยกัน โดยโจโกวีมองว่า การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจเชื่อมทรัพยากรประเทศ แหล่งผลิตสินค้า และการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังช่วยลดค่าขนส่งสินค้าในประเทศ ซึ่งนักธุรกิจและลงทุนของไทยสามารถแสวงหาช่องทางและประโยชน์ได้จากนโยบายของโจโกวีได้”ทรงพลชี้

ทรงพล กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการพัฒนาระบบการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ที่โจโกวีให้ความสำคัญอย่างมาก ยังได้มีการปฏิรูประบบราชการ และกฎหมายระเบียบการค้าแบบทันสมัย สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลและเชื่อมโยงการค้าทางออนไลน์ที่อินโดนีเซียผลักดันอย่างต่อเนื่องในความร่วมมืออาเซียน

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงภายใน10 ปี เนื่องจากอินโดนีเซียประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 4,000ล้านดอลลาร์ต่อปีเนื่องจากการจราจรในกรุงจาการ์ตามีความคับคั่งผจญปัญหารถติดอันหนึ่งของโลก ขณะเดียวกันกรุงจาการ์ตายังมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราว 660 ตร.กม.

นอกจากนี้ กรุงจาการ์ตาอาจมีโอกาสจมน้ำซึ่งจากการสำรวจและเก็บข้อมูลของจอห์น อิงก์แลนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระดับความสูงของน้ำทะเลพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของมหานครแห่งนี้จะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดในปี 2593 โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของจาการ์ตาทรุดตัวลง 2.5 เมตรในช่วง 10 ปี และจะทรุดลงเรื่อยๆ เฉลี่ย 1-15 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งการขุดน้ำบาดาลเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ครึ่งหนึ่งของจาการ์ตาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

ล่าสุด นายบาซูกิ ฮาดิมูลโจโน รัฐมนตรีการเคหะและสาธารณูปโภคของอินโดนีเซีย เผยว่า รัฐบาลจะเริ่มต้นการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ในจ.กาลิมันตันตะวันออกในปี 2563 โดยการดำเนินการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยได้เริ่มทำการออกแบบระบบสาธารณูปโภคได้ในปีนี้ และจะดำเนินการก่อสร้างได้ทันที

สำหรับเมืองหลวงแห่งใหม่จะมีพื้นที่ 1,800ตร.กม. ส่วนที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานรัฐบาลจะมีพื้นที่ 400ตร.กม.โดยการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังจ.กาลิมันตันตะวันออกอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในปี 2567

ส่วนความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-อินโดนีเซียนั้น ทรงพลชี้ว่าทั้ง2ประเทศมีความสัมพันธ์ด้านการค้าใกล้ชิดกันมากในปี 2561 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 1.8หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 7 และเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเป็นอันดับ 11 โดยมูลค่าการลงทุนของไทยในอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ และยังมีบริษัทไทยจดทะเบียนในอินโดนีเซียอยู่ราย 113 บริษัท

ที่ผ่านมา มีการผลักดันให้จัดตั้งสภานักธุรกิจไทย-อินโดนีเซียจนเป็นผลสำเร็จ เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการลดอุปสรรคทางธุรกิจรวมทั้งสะท้อนมุมมองให้กับภาครัฐ นำไปสู่การส่งเสริมและช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าจะมีการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซียครอบรอบ 70 ปี ถือเป็นจุดตั้งต้นในยุคสหัสวรรษใหม่ของรัฐบาลทั้ง 2ประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ร่วมกัน