'สุวิทย์' ปลดล็อคมหาวิทยาลัยไม่ติดกับดักรูปแบบเดิม

'สุวิทย์' ปลดล็อคมหาวิทยาลัยไม่ติดกับดักรูปแบบเดิม

รมว.อว. ย้ำ 3-6 เดือนปลดล็อคมหาวิทยาลัยไม่ให้ติดกับดักรูปแบบเดิม ด้วยการสร้างทางเดินให้แก่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เติมคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมย้ำความเหลื่อมล้ำไม่ใช่วาทกรรม แต่เป็นของจริง

วันนี้ (25 ส.ค.2562) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้มอบนโยบาย "การบริหารงานอุดมศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอว.ให้แก่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า ขณะนี้มีเวลาไม่มากในการทำงานเพื่อประเทศ ซึ่งได้ขอทำงานแข่งกับเวลาจะไม่มีการพูดถึงวิสัยทัศน์แต่เน้นการลงมือปฎิบัติจริงในการขับเคลื่อนงานอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ โดยขอพลังจากทุกคนได้ช่วยกันสร้างให้กระทรวงอว.เป็นกระทรวงแห่งปัญญาและเป็นกระทรวงแห่งอนาคตของประเทศให้ได้ภายใต้การดำเนินงาน 3 ส่วน คือ 1.การสร้างคน 2.สร้างองค์ความรู้ และ3.สร้างนวัตกรรม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยต้องไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบการศึกษาของเด็กตั้งแต่อายุ18-22 เท่านั้นแต่ต้องดูแลการศึกษาทุกช่วงอายุโดยเฉพาะการดูแลการศึกษาในสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงมหาวิทยาลัยเองจะต้องออกจากระบบที่อุ้ยอ้ายต้องมีการเปลี่ยนแปลงออกจากยุคเดิมๆไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียว โดยมหาวิทยาลัยต้องมองถึงอนาคตเป็นมหาวิทยาลัยที่จะเปิดรับสิ่งต่างๆมากขึ้น ซึ่ง 3-6 เดือนต่อจากนี้จะปลดล็อคมหาวิทยาลัยไม่ให้ติดกับดักรูปแบบเดิมด้วยการสร้างทางเดินให้แก่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไปพร้อมกับการเติมคุณภาพและมาตรฐาน เช่น การจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี หรือการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น เป็นต้น อีกทั้งไม่อยากเห็นมหาวิทยาลัยแข่งขันแย่งกันที่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง แต่ตนต้องการเห็นมหาวิทยาลัยยกระดับคุณภาพตัวเองจากลำดับรั้งท้ายขึ้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยท็อปไฟว์หรือท็อปเท็นให้ได้ นอกจากนี้การผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่จะต้องตอบโจทย์พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ด้วย

ทั้งนี้ สำหรับแผนนโยบายด้านอุดมศึกษาที่จะขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพอุดมศึกษาที่เน้นผลสัมฤทธิ์ของการปฎิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาตามศักยภาพและตามความสามารถแลพศักยภาพของแต่ละสถาบันในระยะเวลา 3-6 เดือนนั้น ประกอบด้วย การสร้างเครื่องมือประเมินศักยภาพและความสามารถของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ จัดทวิธีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการทำงาน หรือ OKRs ของกระทรวงและกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ต่อจากนั้น 6 เดือน จะประเมินศักยภาพและความสามารถของสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ เช่น การโชว์ตัวอย่างผลงานของมหาวิทยาลัยตามกลุ่มเป้าหมาย และ20 มหาวิทยาลัยต้องจัดทำแผนเป้าหมายยกระดับคุณภาพมหาวิทยาลัย จากนั้น 10 มหาวิทยาลัยได้รับการประเมินจัดอันดับ

"ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่วาทกรรม แต่เป็นของจริง การลดความเหลื่อมล้ำต้องอาศัยพลังที่แท้จริงจากชุมชน ต้องการชุมชนนวัตกรรมที่ชุมชนเป็นผู้คิดค้น สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมาจากชุมชนที่พัฒนาแล้ว และไม่ใช่เพียงโชว์ว่าชุมชนทำอะไร แต่ต้องเอาพลังความรู้จากชุมชน ดังนั้น อยากฝากมหาวิทยาลัยให้ร่วมกันตั้งวง เพื่อแก้ปัญหาใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และควรสร้างแพลตฟอร์มกลางในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการยกระดับ และ 2.การขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ต้องการให้แก้ไขความยากจนโดยใช้บิ๊กดาต้า ข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ใช่เพียงการเพิ่มสวัสดิการ แต่มหาวิทยาลัยต้องทำให้เกิดการซ่อมปัญหา กระทรวงอว.จะทำงานร่วมกับคณะทำงานของนายกฯ อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง และโจทย์จากข้อมูลจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง” นายสุวิทย์ กล่าว