ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG โมเดล

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG โมเดล

ทำความรู้จัก BCG Economy โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกกระทรวงนำโมเดลนี้ไปคิดเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

โลกของเราในปัจจุบันมีปัญหามากมายที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติก ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก นำไปสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มตาม จนเกิดการเสียสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากร ระบบการผลิตในปัจจุบันจึงเกินความสามารถที่โลกจะรองรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น จึงมีแนวคิดใหม่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด เรียกระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ว่า BCG โมเดล เป็นการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจในสามมิติไปพร้อมกัน ได้แก่ B- Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C-Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว


โดยนำองค์ความรู้มาต่อยอดฐานความเข้มแข็งภายในของประเทศ นั่นคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และผลผลิตการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ โดยมุ่งยกระดับระบบการผลิตในปัจจุบัน ไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบและสมดุลของสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติ อย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดเป็นการโน้มนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่คิดค้นขึ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้พัฒนาประเทศ


BCG โมเดลครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น S-Curve ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ และการท่องเที่ยว การทำงานในแต่ละด้านเป็นพีระมิดที่ส่วนยอด หมายถึงผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสูง มีกำลังลงทุนในเทคโนโลยีและพร้อมรับความเสี่ยง ถึงแม้จะมีจำนวนน้อยแต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง และเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ส่วนของฐานพีรามิด หมายถึง ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนและชุมชนที่ใช้ เทคโนโลยีไม่สูง แต่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีและชุมชน


ตัวอย่างเช่น ด้านเกษตรและอาหาร บนยอดของพีระมิด คือ ผู้ประกอบกิจการอาหารแปรรูปที่ใช้นวัตกรรมและสามารถผลิตอาหารฟังก์ชั่นมูลค่าสูง โดยอาจใช้การปรับปรุงสายพันธุ์หรือวิธีการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ให้มีสารอาหารสูง ผลิตสารสกัด โดยใช้องค์ความรู้ด้านโภชนพันธุศาสตร์ (nutrigenomics) โดยนำผลผลิตจากฐานพีระมิด มาต่อยอดและส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดพื้นที่ปลูก ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (precision farming) เป็นต้น


ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ใน 3 แนวทางคือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (reuse) การแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle หรือ upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-waste) โดยนำแนวคิดนี้ไปใช้กับ พีระมิดทั้ง 4 ด้านของเศรษฐกิจชีวภาพ

การดำเนินการตามแนวทางนี้จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ เป็นเศรษฐกิจที่รักษ์โลกและรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ต่างคนต่างมาช่วยกันทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ใครจะอยู่บนยอดพีระมิด หรือฐานพีระมิด ก็ตาม ต่างได้ประโยชน์จาก BCG Economy แน่นอนครับ

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช., เมธีวิจัยอาวุโส สกว.