เห็นชอบตำรับยากัญชาหมอพื้นบ้าน 'น้ำมันเดชา' อนุญาตปลูกเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง

เห็นชอบตำรับยากัญชาหมอพื้นบ้าน 'น้ำมันเดชา' อนุญาตปลูกเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง

คกก.ยาเสพติดฯ เห็นชอบ 2 ตำรับยากัญชาหมอพื้นบ้าน “ตำรับจอดกระดูก-น้ำมันเดชา” เตรียมยกร่างประกาศชง “อนุทิน” ลงนามเร็วๆ นี้ พร้อมไฟเขียว 3 แห่งปลูกกัญชาเพิ่ม

วันนี้ (13 ส.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ว่า การประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ ครั้งก่อนมีการนำตำรับน้ำมันกัญชาสูตร นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ มาพิจารณา ซึ่งตัวตำรับไม่ได้มีปัญหา มีความปลอดภัย แต่ติดที่นายเดชา ยังไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้านฉบับที่ 2 เพื่อให้หมอพื้นบ้านตามระเบียบแล้ว การประชุมในครั้งนี้จึงเห็นชอบรับรองตำรับน้ำมันกัญชาของนายเดชา นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องของการคลายล็อกกัญชงเพื่อเศรษฐกิจด้วย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ เห็นชอบตำรับยาหมอพื้นบ้านที่มีกัญชาปรุงผสม 2 ตำรับ คือ ตำรับยาจอดกระดูก ของนายนาด ศรีหาตา หมอพื้นบ้าน จ.กาฬสินธุ์ และตำรับน้ำมันกัญชา ของนายเดชา ซึ่งหลังจากนี้จะร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ... เพื่อเสนอให้ รมว.สาธารณสุขลงนาม และไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป จึงถือเป็นตำรับที่ผ่านการรับรองถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หมอพื้นบ้านที่จะใช้ก็ต้องมายื่นขอผลิตตามสูตรที่ขอไว้ และใช้เฉพาะผู้ป่วยของตน ส่วนวัตถุดิบกัญชาที่จะนำมาใช้ปรุงก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย คือ ต้องร่วมกับภาครัฐในการปลูกกัญชา เพื่อให้ได้วัตถุดิบมาปรุงยา

นพ.ธเรศ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาอนุญาตการปลูกกัญชาเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง คือ 1.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ขออนุญาตปลูกเพิ่มกัญชาที่มีซีบีดีสูง เพื่อมาเตรียมการรองรับนโยบายของ รมว.สาธารณสุข 2.รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และ 3.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับการพิจารณาเรื่องกัญชง ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยทางกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นตรงกันกับทางนโยบายว่า เพื่อคลายล็อกให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจและมีมูลค่าเพิ่ม จึงเห็นชอบในหลักการที่จะให้นำกัญชงที่มีสารทีเอชซีน้อยกว่า 0.2% มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องสำอางได้เพิ่มขึ้น โดยจะต้องมีการแก้กฎหมายและออกประกาศต่างๆ ตามมารองรับ ประกอบด้วย 

1.ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยกัญชง พ.ศ. ... ซึ่งฉบับเดิมมีเรื่องของภายใน 3 ปีแรกให้ดำเนินการโดยภาครัฐ ก็จะแก้ไขเป็นดำเนินการร่วมกับภาครัฐและดำเนินการได้ทันที ซึ่งกฎกระทรวงอาจต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ก็จะเร่งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ... รายละเอียด คือ การยกเว้นกัญชงที่มาใช้ ต้องเป็นกัญชงที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก เพื่อประโยชน์เกิดแก่ประเทศไทย

3.ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ... ซึ่งฉบับนี้หลักการ คือ การกำหนดสารสำคัญคือให้มีทีเอชซีน้อยกว่า 0.2% ตามมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ เพราะมีผลต่อจิตประสาท ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 4.การออกประกาศสำนักอาหาร และประกาศสำนักเครื่องสำอาง เพื่อออกมารองรับในการนำกัญชงมาใช้ในการผลิตหรือผสมอาหารและเครื่องสำอางได้อย่างในต่างประเทศ แต่เราจะคุ้มครองคนไทย โดยต้องผลิตโดยประเทศไทยและคนไทย ไม่ใช่เอาจากเมืองนอกเข้ามาปั๊มผลิต

ส่วนความคืบหน้าการส่งน้ำมันกัญชาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้แก่ 12 โรงพยาบาลศูนย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย นพ.สุขุม กล่าวว่า ตอนนี้ยารับมอบมาแล้ว อยู่ที่คณะกรรมการระบบบริการสุขภาพที่จะจัดจ่ายกำหนดมาตรฐานเพื่อส่งไป โดยวันที่ 14 ส.ค.นี้ จะมีการจัดประชุมเวิร์กชอปเรื่องกัญชา เพื่อดูภาพรวมของระบบการดูแลผู้ป่วย โดยมีการเชิญบุคลากรและบุคคลภายนอก เช่น แพทยสภา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมด้วย