หนัก! 'รอง ผอ.เขื่อนสิริกิติ์' เผยน้ำน้อยสุดรอบ 5 ปี

หนัก! 'รอง ผอ.เขื่อนสิริกิติ์' เผยน้ำน้อยสุดรอบ 5 ปี

"รอง ผอ.เขื่อนสิริกิติ์" เผยน้ำต่ำสุดรอบ 5 ปี เริ่มลดระบายระบบขั้นบันใดน้ำเหลือ 3 ล้าน ลบ.เมตรจากพายุวิภา หวังเริ่มเก็บกักใช้แล้งนี้

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.62 นายวุฒิไกร สร่างทร รอง ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ว่า ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 3,309.45 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 34 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้จริงเพียง 459 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 6.9 เป็นปริมาณน้ำที่ลดลงต่ำกว่าระดับกักเก็บสูงสุด 3 11.18 เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำต่ำสุดในรอบ 5 ปี และถือว่าต่ำสุดของปีนี้ เกิดจากภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นตามแผนของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ จากเดิมกำหนดแผนในรอบปีเขื่อนสิริกิติ์ระบายน้ำ 2,066 ล้าน ลบ.เมตร ให้ลดลงเหลือ 1,766 ล้าน ลบ.เมตร หรือ ลดการระบายลงไปจากแผนเดิม 300 ล้าน ลบ.เมตร

ดังนั้น ในช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคม ตุลาคม 2562 เริ่มลดการระบายน้ำตามระบบขั้นบันใด คือ วันละ 14 , 10, 4 และ 3 ล้าน ลบ.เมตร เน้นการใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศทางน้ำ ซึ่งเกษตรกรผู้ใช้น้ำท้ายเขื่อน ทำการเกษตรจะเน้นในช่วงของฤดูฝนหรืออาศัยน้ำฝนเป็นหลักส่วนน้ำที่เกิดจากการระบายจากเขื่อนไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้อย่างเต็มที่ จึงฝากไปยังเกษตรกรให้ติดตามสถานการณ์น้ำและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากภาวการณ์ขาดแคลนน้ำของผลผลิตทางการเกษตร

การปรับลดการระบายน้ำ เขื่อนสิริกิติ์ เริ่มเก็บกักน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ว ที่จะมีร่องมรสุมภาคตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้เกิดฝนตกเหนือ ประกอบกับ พายุโซนร้อนวิภา ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยวันละ 50 ล้าน ลบ.เมตร แต่เป็นปริมาณน้ำไหลเข้าค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามปีนี้จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำจะไหลเข้าสู่เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณที่น้อย ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำที่เก็บกักค่อนข้างจะต่ำ เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ากว่า 170 ล้าน ลบ.เมตร รวมปริมาณเก็บกักร้อยละ 70 ดังนั้นการระบายน้ำเหลือวันละ 3 ล้าน ลบ.เมตร หากมีฝนตกเหนือเขื่อนจะได้เริ่มเก็บกักน้ำใช้ช่วงแล้ง