เกาหลีใต้ประกาศตอบโต้หลังญี่ปุ่นถอนสิทธิพิเศษการค้า

เกาหลีใต้ประกาศตอบโต้หลังญี่ปุ่นถอนสิทธิพิเศษการค้า

ประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ ประณามญี่ปุ่นว่าตัดสินใจบุ่มบ่าม รัฐบาลโซลจะออกมาตรการตอบโต้เช่นกัน

คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเห็นชอบวานนี้ (2 ส.ค.) ถอนเกาหลีใต้ออกจากบัญชีสิทธิพิเศษทางการค้าเป็นประเทศแรก มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป เท่ากับว่าผู้ส่งออกญี่ปุ่นที่จะส่งสินค้าไปยังเกาหลีใต้ ต้องขอใบอนุญาตส่งออกยุ่งยากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกสินค้านานาชนิดเพืื่อใช้ผลิตอาวุธลดน้อยลง

นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมแถลงหลังประชุม ครม.ว่า การตัดสินใจยึดเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ได้ตั้งใจจะทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคี แต่ทางการเกาหลีใต้ไม่ได้มองเช่นนั้น

ประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ ประณามญี่ปุ่นว่าตัดสินใจบุ่มบ่าม รัฐบาลโซลจะออกมาตรการตอบโต้เช่นกัน

“การกระทำที่เห็นแก่ตัวของรัฐบาลโตเกียว ป่วนซัพพลายเชนโลก ย่อมสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล ญี่ปุ่นควรถอนมาตรการไม่เป็นธรรมที่ตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวนี้โดยเร็ว แล้วมาเจรจากัน อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลญี่ปุ่น” นายมุนแถลงต่อที่ประชุม ครม.โสมขาว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลโซลจะค่อยๆ ตอบโต้เพื่อนบ้านรายนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

“แม้ญี่ปุ่นจะเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ แต่ถ้าเศรฐกิจเราเสียหาย เราก็ต้องใช้มาตรการตอบโต้แบบเดียวกัน”

ข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศเกาหลีระบุ สินค้าที่เกาหลีใต้นำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่าสูงสุดในปี 2561 คือ ส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์นานาชนิดตั้งแต่แผ่นซิลิคอนไปจนถึงเครื่องพิมพ์ชิพ

ในปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้ซื้อส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์จากญี่ปุ่น รวม 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นเกือบ 20% ของการนำเข้าจากญี่ปุ่น

ชนวนความขัดแย้งมาจากศาลเกาหลีใต้พิพากษาให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นายเซโกะกล่าวว่า ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถเชื่อใจเจรจากับเกาหลีใต้ได้อีก

การจ่ายเงินชดเชยจบไปแล้วด้วยสนธิสัญญาปี 2508 ตอนที่ทั้งสองประเทศปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน แต่ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสองพันธมิตรสหรัฐ เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลวอชิงตันต้องการให้โตเกียวและโซลร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเรื่องเกาหลีเหนือ อีกทั้งเศรษฐกิจสองประเทศก็กำลังมีปัญหา การส่งออกลดเนื่องจากความต้องการจากจีนซบเซา