'รมว.อว.' รับลูกม.เอกชนทำวิจัยอัพ SME

'รมว.อว.' รับลูกม.เอกชนทำวิจัยอัพ SME

"รมว.อว." รับปากม.เอกชน ทำงานวิจัยร่วมกับก.อุตสาหกรรม ยกระดับธุรกิจ SME พร้อมฝากแบ่งกลุ่มม.เอกชน เพื่อการพัฒนาตรงจุด เตรียมผลักดันเป็นม.ต้นแบบ 3 ด้าน

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.62 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวภายหลังการหารือกับ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ซึ่งมีม.เอกชน เป็นสมาชิก 75 แห่ง ว่า ม.เอกชน มีจุดเด่นในการรับนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติ ที่มีสัดส่วน 59% ถือว่ามีศักยภาพในการช่วยการจัดการศึกษา ซึ่งได้ขอให้ม.เอกชน ทั้งหมดกลับไปดูตัวเองว่าจะอยู่ในกลุ่มใดของประเทศโดยแบ่งเป็น3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ1.กลุ่มมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก 2. มหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และ3.มหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ชุมชนและพื้นที่ เพื่อที่จะได้พัฒนาให้ตรงจุด และจัดอันดับตัวเองว่า 5 แห่งแรกของม.เอกชนที่ดีที่สุดและต้องการไปต่อระดับโลก มีศักยภาพไม่แพ้มหาวิทยาลัยรัฐคือที่ไหนบ้าง รวมถึงม.เอกชนที่อยู่อันดับท้ายๆ เพื่อจะได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ และไปดูว่ามหาวิทยาลัยใดที่มีปัญหา 5-10 แห่งที่ต้องการให้เข้าไปเยียวยา มีที่ใดบ้าง

"เท่าที่ดูศักยภาพของม.เอกชน เห็นว่า มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบ 3 ด้าน คือ 1.ด้านการทำงานการศึกษาต่างประเทศ ทั้งการดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน และการรุกออกไปสอนที่ต่างประเทศ โดยเรื่องนี้จะประสานกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในการช่วยผลักดัน ด้านการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเข้าไปยกระดับธุรกิจวิสาหกิจขนาดย่อมหรือ SME ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของอว. ในการนำองค์ความรู้เข้าไปยกระดับชุมชน และเพื่อให้ทำได้ในวงกว้าง อว. จะดึงม.เอกชน ไปหารือกับสภาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อน และด้านการเป็นต้นแบบในการควบรวมหลักสูตร การเรียนข้ามมหาวิทยาลัย และการเรียนออนไลน์ เพราะม.เอกชนมีความคล่องตัวในการปรับหลักสูตรสามารถยุบหลักสูตรที่ซ้ำซ้อน และสอนรวมในวิชาที่ตำเป็นในมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง รวมถึงให้ไปดูเรื่องการเปิดหลักสูตรระยะสั้น ให้คนทุกช่วงวัย เข้ามาเรียนพัฒนาตัวเอง หรือที่เรียกว่า ปริญญาจิ๋วเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ม.เอกชน ขอให้แก้ปัญหาคือทบทวนพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2562 ที่เพิ่งประกาศ ใช้ แต่ไม่ได้แก้ในประเด็นสำคัญ ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัว รวมทั้งจะไปหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เกี่ยวกับระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ซึ่งมี 5 รอบ มากเกินไป ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนรับเด็กได้น้อย โดยรมว.อว.รับจะไปพูดคุยกับทปอ. อย่างไรก็ตามอยากให้มหาวิทยาลัยเน้นพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเลือกมาเรียน ด้วยคุณภาพของมหาวิทยาลัยเอง

นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) กล่าวว่า ม.เอกชน ได้เข้าพบรมว.อว. ซึ่งได้เสนอ 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.อยากให้มีการตั้ง Business industry university หรือมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการในม.เอกชน ซึ่งจะมีรูปแบบทำงานการร่วมกันในการพัฒนาบุคลากร วิจัย ให้แก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งถือเป็น 80% ของธุรกิจทั้งหมดของประเทศไทย และที่ผ่านมายังมีอีกหลายเรื่องที่ธุรกิจ SME ยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังนั้น ม.เอกชนจะร่วมผลักดันพัฒนาบุคลากร นักธุรกิจด้าน SME โดยรมว.อว.จะไปหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้ม.เอกชน เข้าร่วม

2.เรื่องการพัฒนาอุดมศึกษานานาชาติ เนื่องจากม.เอกชนมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนจำนวนมาก อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศ 1 ใน 3 ของโลกที่น่าเรียน ดังนั้น อยากให้อว.เป็นหัวหอกประสานงานกับส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ม.เอกชนบริการทางการศึกษากับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรม

3.ที่ผ่านมา ม.เอกชนได้ทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แต่ส่วนใหญ่จะต่างคนต่างทำ และอยู่เบื่องหลัง ดังนั้น จึงอยากให้มีการนำความสามารถของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีศักยภาพมาวมเข้าด้วยกัน เช่น บุคลากรด้านไอซีทีของแต่ละแห่งมารวมเพื่อทำการวิจัยให้แก่ภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เป็นต้น

4.อยากให้อว.ช่วยลงทุนทรัพยากรด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ เช่น อินเทอร์เน็ต ฐานข้อมูลต่างๆ ของมหาวิทยาลัยต่าง เพื่อที่จะช่วยให้นักศกษาในมหาวิทยาลัยใหญ่และเล็กสามารถเข้าถึงฐานเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง และที่สำคัญในอนาคตจะได้สร้างการเรียนรู้แบบออนไลน์ต่างๆ ได้ด้วย เช่น โมบายเลินนิ่ง

และ 5.อยากให้อว.แก้กฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนาหลักสูตร เนื่องจากติดกับกฎระเบียบ ไม่มีความคล่องตัว อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ รมว.อว.เข้าใจ และเห็นว่าม.เอกชนเป็นพาสเนอร์ในการพัฒนาการศึกษา ยกระดับงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรม โดยจะไปหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง