กสทช.สั่งเบรก "ท่อร้อยสาย" จี้ กทม. สร้างเอง

กสทช.สั่งเบรก "ท่อร้อยสาย" จี้ กทม. สร้างเอง

กสทช.ถก 6 โอเปอเรเตอร์สร้างความเข้าใจตรงกัน ตอกกลับสัญญาเดิม "กรุงเทพธนาคม" ที่เปิดทางให้ “ทรู” เหมาคาปาซิตี้ไปขายต่อเอกชน "ทำไม่ได้" ระบุทุกคนมีสิทธิใช้ท่อร้อยสายต้องเช่าตรงกับ กทม.เอง 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วานนี้ (31 ก.ค.) สำนักงานกสทช.ได้เชิญผู้ให้บริการโทรคมนาคม 6 ราย ที่รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงดินของกรุงเทพมหานคร ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และ สำนักงานกสทช. เข้าร่วมชี้แจงความชัดเจนของโครงการดังกล่าวพร้อมกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า โอเปอเรเตอร์มีความเข้าใจผิดในหนังสือชี้ชวนความต้องการใช้ท่อร้อยสายว่าเป็นการลงนามเพื่อให้สัมปทาน 30 ปี กับ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ด้วยมูลค่าโครงการ 25,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่ยื่นเอกสารแสดงความต้องการใช้งานท่อร้อยสายเข้ามา ขณะที่บริษัทอื่นไม่ได้แสดงความต้องการเข้ามา ซึ่ง กรุงเทพธนาคม ได้ชี้แจงให้โอเปอเรเตอร์เข้าใจตรงกันแล้ว

ในส่วนของกสทช.ที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้คือการขอดูเอกสารชี้ชวนเข้าร่วมโครงการว่า กรุงเทพธนาคม ทำได้ถูกต้องและไม่ขัดต่อมาตรา 35 ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ต้องดำเนินโครงการเอง ตามประกาศกสทช. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน หรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการโทรคมนาคมต่อไป ดังนั้น กรุงเทพธนาคม จึงไม่สามารถทำสัญญาให้โอเปเรเตอร์รายหนึ่งรายใดเหมาท่อร้อยสายเพื่อไปให้บริการต่อกับโอเปอเรเตอร์อีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น กรณีของทรูฯจึงไม่สามารถทำได้ตามที่เป็นข่าวคือขอเช่าท่อในความจุ 80% แล้วมาขายคาปาซิตี้ให้คนอื่นเข้ามาเช่าต่อไม่ได้ ทั้งนี้ กสทช.จึงให้ กรุงเทพธนาคม กลับไปนำเอกสารชี้ชวนมาให้กสทช.ดูอย่างละเอียดอีกครั้งว่าขัดต่อประกาศหรือไม่ รวมทั้งให้เสนอค่าบริการท่อร้อยสายมาให้กสทช.พิจารณาด้วย จากนั้น กสทช.จะนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการการให้สิทธิ์แห่งทาง เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องราคาแล้วจึงนำไปประกาศลงเว็บไซต์ของทั้ง กรุงเทพธนาคม และ กสทช. ซึ่งกสทช.จะต้องกำหนดราคาให้เป็นธรรม และรับประกันว่าจะไม่มีการผลักภาระให้กับประชาชนอย่างแน่นอน เพราะกสทช.จะดูว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น กสทช.จะสามารถลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้กับโอเปอเรเตอร์ได้ทางใดบ้าง

นายฐากร กล่าวว่า มติของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้ระบุชัดเจนว่า การนำสายลงดินนอกเหนือจาก 200 กิโลเมตรที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ลงใต้ดินแล้วอีกประมาณ 2,450 กิโลเมตร ต้องให้ กรุงเทพมหานครทำ และ โอเปอเรเตอร์ทุกรายต้องเช่ากับกรุงเทพธนาคมเท่านั้น เพราะทีโอทีไม่สามารถมีหลักฐานว่าทีโอทีมีท่อพร้อมใช้งาน ซึ่งโครงการนี้เป็นการทำบนถนนเส้นหลัก ไม่รวมตรอก ซอก ซอย ที่จะทำแค่การจัดระเบียบสายเท่านั้น

ด้านนายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ กรุงเทพธนาคม กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขุดท่อผ่าน 3 บริษัท เดิมที่ชนะการประมูลเข้ามาคือ คือ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี,กิจการร่วมค้า เอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์ ,กิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี เพื่อให้นำสายลงดินได้เสร็จภายในเดือน พ.ค. 2564 ส่วนเรื่องการกำหนดราคา กรุงเทพธนาคม จะเร่งส่งราคาเสนอต่อกสทช.ภายในเดือนส.ค.นี้ เพื่อส่งราคาก่อนจะดำเนินการสร้างต่อไป