บิ๊กธุรกิจ-โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ เล็งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์

บิ๊กธุรกิจ-โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ เล็งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ จัดงาน SET Social Impact Day 2019 ภายใต้แนวคิด “Partnership for Impact Co-creation ออกแบบ ทางออก มหาชน” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอและออกแบบแนวคิดการแก้ปัญหาสังคมโดยภาคธุรกิจใน 5 มิติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและการเกษตร

การเสวนาหัวข้อ Environment "ออกแบบทางออกให้น้ำ ทะเล ป่า ขยะ" นำเสนอตัวอย่างการริเริ่มและความสำเร็จในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ โดยผู้ผลิตเม็ดพลาสติกยักษ์ใหญ่พร้อมปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทำให้เกิดธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า บริษัทกำลังคิดต่อยอดหลังจากทำโครงการ CSR อัพไซคลิ่ง ดิ โอเชี่ยน ที่พยายามนำพลาสติกในทะเลมาแปลงค่าเป็นผลิตภัณท์ใหม่ อาทิ เส้นใย โดยมุ่งเรื่องรีไซเคิลมากขึ้น 

นอกจากนี้ บริษัทยังคิดเรื่องการปรับสายการผลิตที่จะมีไบโอพลาสติกเข้ามาในสายการผลิต ซึ่งบริษัทได้ประกาศไปตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวในอีก 5 ปี ข้างหน้า

ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กหน้าใหม่อย่าง ชนินทร์ ศรีสุมะ ผู้ก่อตั้งร้านรีฟิลช็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร จาก Eco designer และ อเล็กซ์ เรนเดล ผู้ก่อตั้งบริษัท Environmental Education Center ต่างได้นำเสนอแนวคิดผลิตภัณ์ใหม่ๆที่จะช่วยลดการใช้ขยะ และให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน โดยร้านรีฟิลช็อป ใช้การสื่อสารสร้าง community และส่วนลด เพื่อช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ร้านแบบรีฟิล ทำให้การพึ่งพาแพคเกจจิ้งลดลง และเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ในสังคมโดยเริ่มมีการเปิดร้านในลักษณะเดียวกันนี้ในหลายพื้นที่แล้ว อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต 

ชนินทร์กล่าวว่า นวัตกรรม หรือ ความพยายามสร้าง circular economy เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาก แต่อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของ mindset ของผู้บริโภค ซึ่งเขาอยากเห็นการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ผลิตภัณฑ์หรือผู้ผลิตเป็นผู้ก่อปัญหา สิ่งที่อาจต้องย้อนกลับมาถามด้วยคือพฤติกรรมของเราผู้ใช้ด้วย

ในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการจัดการด้านดีมานต์ เป็นส่วนสำคัญในการจัดสรรทรัพยาการน้ำซึ่งบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) ได้นำมาใช้เป็นหนึ่งในหลักของการจัดสรรน้ำแก่ผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนในภาคตะวันออกที่มีความต้องการใช้น้ำสูง ทั้งนี้เพื่อให้การใช้นำ้มีความคุ้มค่ามากที่สุดผ่านกลยุทธ์การสื่อสารบนหลัก 3R คือ การลด การรีไซเคิล และการใช้ซ้ำ บดินทร์ อุดล รองกรรมการผู้อำนวยกาใหญ่สายปฏิบัติการของบริษัทกล่าว

ในวงเสวนาปิดท้ายเมื่อวานนี้ “ออกแบบวิถีชุมชน ออกแบบเกษตรยั่งยืน” ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์กล่าวว่า ชุมชนสามารถสร้าง “แบรนด์” ได้ในวิถีการตลาดด้วยอัตตลักษณ์และชุดความรู้จากภายใน  

ผู้อำนวยการโครงการพอแล้วดี ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ที่ทำงานด้านการออกแบบชุมชนระดับต้นๆของประเทศ กล่าวว่า การค้นหาคุณค่าอัตลักษณ์ของชุมชน ก่อนจะพัฒนาอย่างมีกลยุทธ์ และสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการดำเนินการที่มีธรรมภิบาล เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะทำให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้าง “แบรนด์” ของตัวเองในตลาด

ที่สำคัญคือความเคารพต่อชุมชนของผู้ที่เข้ามาช่วยออกแบบให้กับชุมชน เธอกล่าว

ในการออกแบบวิถีชุมชน องค์ความรู้ที่สั่งสมและการเรียนรู้ของบุคคลตัวอย่างก็เป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลได้ โดยวงเสวนายกตัวอย่างของ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของสวนออนซอน จังหวัดฉะเชิงเทรา นายเลี่ยม บุตรจันทา โดยนายเลี่ยม เล่าว่า เขาเรียนรู้จากประสบการณ์ความล้มเหลวในการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว และจากปราชญ์ชาวบ้านท่านอื่นๆ บนวิธีคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง จนได้แนวทางการดำเนินชีวิตในวิถีเกษตรที่ยั่งยืน และเป็นตัวอย่างในชุมชนได้

“สวนของผมไม่เคยมีรั้วเพราะต้องการแบ่งปัน อยากให้คนอื่นเอาไปทำอย่างที่เราทำ” นายเลี่ยมกล่าวในงานเสวนา

นอกจากองค์ความรู้จากประสบการณ์และการสั่งสมของปราบญ์ชาวบ้านแล้ว “แบรนด์” ของชุมชนยังสามารถสร้างขึ้นได้โดยคนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้ผสมผสานองค์ความรู้สมัยใหม่

กาแฟ อาข่า อ่ามา ถูกยกเป็นตัวอย่างของชุมชนชนเผ่าที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากอัตตลักษณ์ชนเผ่าของตัวเอง ผสมผสานกับความรู้ทางการเกษตรและการจัดการสมัยใหม่จนกลายเป็นกาแฟยี่ห้อดัง อาข่า อ่ามา

อายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง แบรนด์กาแฟเพื่อสังคม อาข่า อ่ามา กล่าวว่า เขาโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนรู้ความรู้สมัยใหม่ผ่านเครือข่ายทางสังคมและนักวิจัย นำมาปรับปรุงการผลิตกาแฟที่เคยมีอยู่ในพื้นที่ และสร้างแบรนด์จากอัตตลักษณ์ของชนเผ่า อย่างที่เห็นจากชื่อที่ใช้

“กาแฟของเราอาจไม่ได้ต่างจากคนอื่น แต่ที่ต่างเป็นพิเศษคงเป็นเรื่องที่เราลงลึกในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ” อายุ กล่าว