ย้ำโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด

ย้ำโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด

กรมควบคุมโรค ย้ำโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เตือนประชาชนอย่าสัมผัส หรือชำแหละเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติรับประทาน

วันนี้ (15 กรกฎาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าว พบฝูงสุนัขจรจัดรุมกัดสุกรตาย 9 ตัว ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และเจ้าของได้นำเนื้อสุกรที่ถูกกัดตายแจกชาวบ้านรับประทานเพราะคิดว่าไม่มีอันตราย นั้น กรมควบคุมโรค ขอเตือนว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว โค กระบือ สุกร แต่ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และโค สำหรับประชาชนที่ชำแหละเนื้อสัตว์ดังกล่าว มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผ่านสารคัดหลั่งทั้งเลือดและน้ำลายของสัตว์ ส่วนกลุ่มเสี่ยงรองลงมาคือ ผู้ที่ปรุงประกอบอาหารหรือสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ กรณีผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ต้องเฝ้าระวัง

หลังได้รับรายงานดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสอบสวนควบคุมโรคและค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสเนื้อสุกรที่ตาย และได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับทุกคนเป็นที่เรียบร้อย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากพบสัตว์เลี้ยงตายหรือป่วยตายผิดปกติ โดยเฉพาะการตายที่เกิดจากสุนัขกัดหรือสัตว์ล้มป่วยตายกระทันหัน ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากจำเป็นต้องมีการสัมผัสหรือเคลื่อนย้าย ขอให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือยางก่อนการสัมผัส เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงอย่านำสัตว์ดังกล่าวมาชำแหละ ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยเฉพาะการปรุงอาหารแบบดิบ หรือสุกๆดิบๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาจติดเชื้อโรคได้ และไม่ควรขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที

ปัจจุบัน โรคติดต่อที่ทำให้สัตว์ป่วยตายและยังสามารถติดต่อสู่คนได้มีหลายโรค เช่น โรคแอนแทรกซ์ โรคบรูเซลโลสิส โรคไข้หวัดนก หรือโรคไข้หูดับที่เกิดจากการรับประทานหมูที่ติดโรคแบบสุกๆดิบๆ และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะทำให้สุกก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดโรคเช่นกัน นอกจากนี้การเลือกเนื้อสัตว์จะต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่ได้รับมาตรฐาน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าที่ได้รับป้ายจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะสามารถติดตามกลับถึงแหล่งเลี้ยงและชำแหละสัตว์ได้ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนประกอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์ด้วยความร้อนจนสุกก่อนรับประทาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค หรือแบคทีเรียต่างๆ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422