ชง 'อนุทิน' ออกใบอนุญาตปลูก-แปรรูป 7 ประเภท คลายล็อกปลูกในครัวเรือน

ชง 'อนุทิน' ออกใบอนุญาตปลูก-แปรรูป 7 ประเภท คลายล็อกปลูกในครัวเรือน

แนะ “อนุทิน” ปลด “กัญชง” เป็นพืชเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์เชิงยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ส่วนกัญชาแยกประเภทผลิตภัณฑ์ให้ชัด เป็นยากัญชา-การเตรียมกัญชา ระบุต้องออกใบอนุญาตใช้ประโยชน์-คุมมาตรฐานต่างกัน ชง 7 ประเภทใบอนุญาตปลูก-แปร คลายล็อกคนปลูกในครัวเรือน

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.62 ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากกัญชามีหลายประเภท โดยแบ่งเป็น 1.ผลิตภัณฑ์ยากัญชา ที่จะต้องขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานทางการแพทย์ และ2.การเตรียมกัญชา (cannabis preparation) ซึ่งน้ำมันกัญชาจัดอยู่ในประเภทนี้ ที่ยังแยกย่อยเป็นหลายชนิด เช่น การเตรียมแบบเฉพาะคราว ที่ถือเป็นตำรับยาเอสเอเอส และไม่จำเป็นต้องผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เพราะไม่ใช่ยา แต่เป็นผลิตภัณฑ์หรือน้ำมันกัญชาที่กำลังจะใช้กันแบบบ้านๆ เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์กับสังคมไทย ไม่ได้มีแต่ยาอย่างเดียว เพราะมีผลิตภัณฑ์เตรียมกัญชาด้วย และแนวโน้มคนไทยต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้สูงที่สุด ไม่ใช่รอให้เป็นยาก่อนแล้วค่อยเอามาใช้ แต่ต้องให้ใช้กัญชาได้ทันทีวันนี้

ภก.อนันต์ชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่เสนอคือต้องดำเนินการแยกเป็น 2 ขนาด ได้แก่ 1.ระดับการผลิต ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อใช้รักษาตัวเอง ไม่ใช่ยา จะต้องควบคุมด้วยมาตรฐานอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่มาตรฐานส่งออก และ2.ระดับการผลิต ผลิตภัณฑ์กัญชาสำเร็จรูป เพื่อการเข้าถึงที่เป็นยามาตรฐาน หรือการวิจัย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหรือส่งออก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานส่งออก การผลิตทั้ง 2 ขนาดห้ามตีเหมารวมด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ทั้งนี้ ในการเพาะปลูกกัญชาและกัญชง จะต้องแยกการออกใบอนุญาตแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาระดับมาตรฐาน เป็นการเพาะปลูกขนาดใหญ่ที่สามารถปลูกกัญชาได้ทุกสายพันธุ์

2.ใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาระดับเล็ก เป็นการเพาะปลูกกัญชาในระดับครัวเรือน กิจกรรมการเพาะปลูกกัญชาได้เหมือนกับระดับมาตรฐาน แต่ทำในขนาดที่เล็กกว่า 3.ใบอนุญาตเพาะพันธุ์เมล็ดและต้นกล้า เป็นการเพาะพันธุ์เมล็ดและเพาะชำต้นกล้ากัญชา สามารถเพาะพันธุ์กัญชาได้ทุกสายพันธุ์ ผลผลิตที่ได้จะเป็น เมล็ดพันธุ์กัญชา ต้นอ่อนกัญชา กล้ากัญชาเพาะชำ และ4.ใบอนุญาตปลูกกัญชงระดับอุตสาหกรรม เป็นการเพาะปลูกกัญชงในระดับอุตสาหกรรม เพาะปลูกได้เฉพาะสายพันธุ์ที่ได้รับอนุญาต ปริมาณสารทีเอชซีต้องต่ำกว่า0.3% ซึ่งผลิตผลที่ได้จะเป็นเมล็ดพันธุ์กัญชา วัตถุดิบกัญชา เส้นใย และน้ำมันซีบีดี

ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชา จะต้องแยกใบอนุญาตเป็น 3. ประเภท คือ1.ใบอนุญาตแปรรูปผลิตภัณฑ์ระดับมาตรฐาน เป็นการอนุญาตให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชาในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา น้ำมันสารซีบีดี ที่มีมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปตามข้อกำหนด ผ่านกระบวนการบรรจุ ข้อกำหนดในฉลากผลิตภัณฑ์สำหรับการจัดจำหน่าย 2.ใบอนุญาตแปรรูปผลิตภัณฑ์ระดับเล็ก กิจกรรมสามารถทำได้เหมือนระดับมาตรฐาน แต่ทำในขนาดที่เล็กกว่า เช่น ตำรับเฉพาะคราว หรือน้ำมันกัญชา ตำรับแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สำหรับงานวิจัย และ3.ใบอนุญาตประเภทอื่น ได้แก่ ใบอนุญาตในการทำศึกษาวิจัย และใบอนุญาตการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ที่จะต้องแยกใบอนุญาตเพราะไม่ได้ทำเพื่อจำหน่าย

ภก.อนันต์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการและแนวทางการขับเคลื่อนการใช้กัญชาทางการแพทย์ มีข้อเสนอ 7 ข้อ ได้แก่ 1.พิจารณานำกัญชาที่เป็นของกลางมาใช้ประโยชน์ทันที เมื่อมีผลวิเคราะห์ด้านคุณภาพ ความปลอดภัย เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด และตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารออกฤทธิ์และสารปนเปื้อน 2.ปลดกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ เพราะไม่ได้เป็นยาเสพติด และเป็นการดำเนินการเชิงเศรษฐกิจที่ต้องทำจริงๆ 3.จัดตั้งองค์กรกลาง กำกับ ดูแลการใช้กัญชาในทางการแพทย์และวิจัย เพราะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีในการวางระบบทั้งหมด

4.ถ้าเป็นว่าผลิตภัณฑ์เตรียมกัญชา ที่ไม่ใช่ยา ต้องใช้ปรับการเข้าถึงกัญชาสู่ระดับชุมชน แต่ต้องมีมาตรฐาน ความปลอดภัย โดยการขออนุญาต ให้ดำเนินการผ่านระดับพื้นที่ แทนที่จะต้องเข้ามาขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นการกระจายอำนาจลงสู่ภูมิภาค 5.พัฒนาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กัญชาสำเร็จรูปในเชิงพาณิชย์ รวมถึง สมุนไพรอื่นๆที่อยู่ในตำรับยาแผนไทย 6.แก้กฎหมาย ออกเป็นพ.ร.บ.พืชยากัญชาและกระท่อม และพ.ร.บ.ที่มีมาตรการ แต่ไม่ใช่การลงโทษทางกฎหมายในการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งต่างประเทศไม่ได้ใช้ลงโทษทางอาญา แต่ใช้การปรับหรือมาตรการทางปกครองแทน และ7. พัฒนาระบบการจัดการเชิงนโยบายและการประเมินผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภก.อนันต์ชัยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คว่า อาจารย์ ดร.อนันต์ชัย อัศวเมฆินจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่ศึกษาเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์และการรักษาโรค ได้กรุณาตอบรับคำเชิญเพื่อมาร่วมภารกิจในคณะทำงานเพื่อผลักดันให้นโยบาย กัญชาเสรีทางการแพทย์และการรักษาโรค ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมากสำหรับงานอันท้าทายนี้ ชื่นชมและมั่นใจในตัวอาจารย์ครับ