กลยุทธ์ ‘3 R’ ปฐมบทลดขยะพลาสติก

กลยุทธ์ ‘3 R’ ปฐมบทลดขยะพลาสติก

สำหรับญี่ปุ่นแล้วขยะพลาสติกดูจะเป็นปัญหามาก ในฐานะที่ประเทศนี้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สะอาดและละเอียดละออเป็นที่สุด

ในยุคที่ขยะพลาสติกเป็นปัญหาหนักอกของทุกประเทศมากน้อยแตกต่างกันตามระดับการพัฒนา แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วขยะพลาสติกดูจะเป็นปัญหามาก ประเทศนี้ได้ชื่อว่าสะอาดและละเอียดละออเป็นที่สุด บรรจุภัณฑ์ที่ปกปิดเรียบร้อยสะท้อนถึงการบริการที่ดี จึงไม่แปลกหากสินค้าทุกอย่างในญี่ปุ่นจะห่อด้วยพลาสติก ตั้งแต่กล้วย 1 ผล ไปจนถึงผัก ขนม ปากกา เครื่องสำอาง

ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกตามมา และเมื่อพลาสติกพวกนี้หลุดลงไปสู่แหล่งน้ำ กลายเป็นปัญหาขยะพลาสติกในทะเล แถมด้วยไมโครพลาสติกที่ตามมาเป็นลูกโซ่ แล้วการแก้ไขควรเริ่มต้นที่ตรงไหน และถ้าเราจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ก่อนหลุดลงทะเลจะดีกว่าหรือไม่ เรื่องนี้ญี่ปุ่นมีคำตอบ 

ย้อนกลับไปที่การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี8 ที่ซีไอส์แลนด์ รัฐจอร์เจียของสหรัฐ เมื่อเดือน มิ.ย.2547 นายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซุมิ เสนอโครงการริเริ่ม 3 อาร์ ตั้งเป้าสร้างสังคมใช้วัตถุหมุนเวียนอย่างเป็นวงจร ผ่านกระบวนการ 3 อาร์ (reduce, reuse, recycle) หรือ ลดใช้ ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล เมื่อบรรดาผู้นำเห็นชอบ ญี่ปุ่นจึงเปิดตัวโครงการริเริ่ม 3 อาร์ขึ้นที่กรุงโตเกียว เมื่อสิ้นเดือน เม.ย.2548 

ผ่านไป 10 กว่าปี ถึงตอนนี้ 3 อาร์กลายเป็นคัมภีร์ที่บริษัท ห้างร้าน ชุมชนญี่ปุ่นยึดถือสำหรับการจัดการขยะ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้นำคณะสื่อมวลชน 7 ชาติ ทั้งไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย ฝรั่งเศส และสเปน ดูงานการจัดการขยะในโรงเรียนที่โรงเรียนประถมโอดะ เมืองคาวาซากิ เพราะการจัดการขยะถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการ 3 อาร์ 

ก่อนเข้าไปเรียนรู้กับเด็กๆ สื่อมวลชนนานาชาติได้รับแจกคู่มือการจัดการขยะของเมืองคาวาซากิ ตีพิมพ์ทั้งภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี จีน ตากาล็อก สเปน โปรตุเกส และเวียดนาม สะท้อนถึงความพยายามสื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างคนท้องถิ่นกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในชุมชน กำหนดกติกาการคัดแยกขยะไว้อย่างละเอียด เช่น ขยะรีไซเคิลได้ จำพวก กระป๋อง ขวดเพท ขวดแก้ว และแบตเตอรี เก็บสัปดาห์ละครั้ง โดยชาวบ้านจะต้องนำขยะเหล่านี้ไปวางไว้ที่จุดรับภายในเวลา 8.00 น.ของวันที่กำหนดเก็บขยะ 

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดรายละเอียดลงไปด้วยว่า กระป๋อง ขวด หรือขวดเพทเหล่านี้ต้องไม่มีก้นบุหรี่หรือขยะทิ้งเอาไว้ภายใน เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการรีไซเคิล ต้องเทน้ำ แยกฝา แกะฉลากออกให้หมด เว้นแต่ว่าจะแกะยากจริงๆ    กระป๋องและขวดเพทให้ใส่ในถุงใสหรือกึ่งใสก่อนทิ้ง ขวดแก้วทิ้งในกล่องเฉพาะ ส่วนแบตเตอรีใส่ถุงใสนำไปทิ้งในจุดรับขยะรีไซเคิล 

เมื่อรายละเอียดการแยกขยะมากขนาดนี้ การบรรจุเป็นวิชาเรียนในหลักสูตรจึงช่วยสร้างความเข้าใจให้เด็กๆ ได้ไม่น้อย โรงเรียนประถมโอดะกำหนดให้การจัดการขยะอยู่ในวิชาสังคมศึกษา นักเรียนเกรด 6 เรียนวิชาทั่วไป หนึ่งในนั้นคือวิชาสิ่งแวดล้อม         

วันที่คณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมโรงเรียน เป็นวันที่เทศบาลคาวาซากินำรถขยะมาสาธิตเรื่องกระบวนการแยกขยะให้นักเรียนเกรด 4 ได้ชมพอดี เป็นการเรียนรู้จากของจริงไม่ใช่การนั่งฟังในห้องเพียงอย่างเดียว 

ทางการคาวาซากิจะนำรถขยะไปสาธิตในทุกๆ โรงเรียนปีละ 1 ครั้ง เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนในทุกขั้นตอน ซึ่งเด็กๆ ให้ความร่วมมืออย่างสนุกสนาน เริ่มตั้งแต่ให้ทายชื่อรถและศักยภาพการบรรทุกของรถเก็บขยะทั้ง 2 คัน เด็กๆ แย่งกันตอบอย่างไม่เหนียมอาย ก่อนได้รับคำเฉลยว่า รถขยะทั้ง 2 คันนี้มีชื่อว่า “Road Packer” และ “Skeleton” ศักยภาพการบรรทุกที่ 2,400 และ 2,000 กิโลกรัม

จากนั้นเจ้าหน้าที่มอบหมายให้เด็กๆ ถือถุงขยะไปทิ้งที่รถ เด็กผู้หญิงอาจจะดูขัดเขินเล็กน้อย ขณะที่เด็กผู้ชายพร้อมซนเต็มที่ เมื่อเด็กๆ นำขยะไปทิ้งที่รถเจ้าหน้าที่ก็สาธิตขั้นตอนการทำงานของรถเก็บขยะ รวมถึงแจ้งข้อควรระวังในการใช้งาน และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเน้นย้ำให้นักเรียนปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้รถอย่างเคร่งครัด สะท้อนถึงสังคมญี่ปุ่นที่เน้นวินัยและปฏิบัติตามกฎระเบียบ 

อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับในการสาธิตของเจ้าหน้าที่คือ “ปล่อยให้เด็กๆ ได้เคลื่อนไหว รู้สึก และตั้งคำถามได้อย่างอิสระ” 

มาซุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เทศบาลคาวาซากิ เล่าว่า  ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาเทศบาลได้นำรถขยะไปสาธิตกับนักเรียนปีละ 110 ครั้ง เมืองคาวาซากิมีโรงเรียนประถม 130 โรง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนรัฐบาล 113 โรง เจ้าหน้าที่ผู้สาธิตมาจากแผนกสิ่งแวดล้อมเทศบาลซึ่งดูแลการเก็บขยะ แต่การรีไซเคิลนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่ได้รับมอบหมาย

เสร็จจากชมรถขยะก็ถึงกิจกรรมสาธิตการแยกขยะโดยแยกเด็กออกเป็น 6 กลุ่ม ได้รับโจทย์ให้นำขยะสารพัดสารเพที่มีมาทิ้งให้ถูกตะกร้า เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ขวดเครื่องดื่ม วัสดุรีไซเคิล (หนังสือพิมพ์ กระดาษลัง นิตยสาร) กระดาษรวม โลหะขนาดเล็ก เป็นต้น 

กิจกรรมนี้สร้างความงุนงงให้นักเรียนเป็นอย่างมาก ทิ้งผิดทิ้งถูกกันเป็นแถว เช่น ตะกร้าขวดรับเฉพาะขวดเครื่องดื่ม ถ้าเป็นขวดเครื่องสำอางก็ต้องทิ้งในอีกตะกร้าหนึ่ง เพราะใช้กระบวนการแยกแตกต่างกันไป 

ประโยชน์ที่ได้จากการสาธิตก็หนีไม่พ้นการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชน ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเข้าใจถึงความสำคัญของกระบวนการ 3 อาร์ 

เสร็จจากกิจกรรมสื่อมวลชนนานาชาติมีโอกาสได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักเรียน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เกรด 6 และเกรด 1 สื่อมวลชนไทย จีน และอินโดนีเซีย เลือกไปร่วมโต๊ะกับนักเรียนเกรด 1 อายุ 7 ขวบ ก่อนรับประทานอาหารครูได้แนะนำเพื่อนร่วมโต๊ะให้เด็กๆ ได้รู้จัก นักเรียนต่างฮือฮาเมื่อทราบว่าเพื่อนใหม่มาจาก 3 ประเทศ โดยเฉพาะเมื่อครูแนะนำสื่อมวลชนจีน ดูเด็กๆ ตื่นเต้นกันมากที่สุด บางคนถึงกับอ้าปากค้าง 

เมนูอาหารวันนั้นประกอบด้วยข้าวสวย ซึ่งเป็นข้าวญี่ปุ่นเม็ดสั้น ป้อม เหนียว กับข้าวมีปลานึ่ง ซุปเนื้อกับเต้าหู้ มันฝรั่งและแครอท ผักกาดขาวแห้งผัด และโยเกิร์ต คุณครูบอกว่าวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารล้วนเป็นผลผลิตปลูกได้ในประเทศ 

ไฮไลท์ของมื้อนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า เมนูคืออะไร แต่อยู่ที่การจัดการขยะหลังรับประทาน เด็กๆ ต้องทิ้งเศษอาหาร แยกจาน ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ให้ถูกหมวดหมู่ เห็นได้ชัดว่าทุกคนชำนิชำนาญในการนี้ แขกต่างประเทศเสียอีกที่ออกจะงุนงงแยกไม่ค่อยถูก แต่เมื่อผ่านมื้ออาหารนี้แล้วผู้ใหญ่จากต่างแดนล้วนตระหนักถึงความสำคัญของ 3อาร์ และตั้งใจว่า คงต้องนำกระบวนการลดใช้ ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล กลับไปใช้ในครัวเรือนของตนเองบ้าง