สงครามการค้าหนุนอาเซียนขยับอันดับ2คู่ค้าจีน
สหรัฐ สูญเสียตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนให้ภูมิภาคอาเซียนในช่วงครึ่งแรกของปี2562 หลังสงครามการค้าสองชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกยืดเยื้อ โดยร่วงลงไปอยู่อันดับ3 และอียูไต่ขึ้นมาเป็นคู่ค้า่อันดับ1 แทน ขณะยอดส่งออกของสหรัฐไปจีนทรุด 30%
เว็บไซต์นิกเคอิ รายงานว่าสหรัฐ กำลังสูญเสียตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนให้แก่ภูมิภาคอาเซียนในช่วงครึ่งแรกของปี2562 หลังจากสงครามการค้าสองชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกยืดเยื้อยาวนานและไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด โดยสหรัฐร่วงลงไปอยู่อันดับ3 และอียูไต่ขึ้นมาเป็นคู่ค้า่อันดับ1 แทน ขณะที่ยอดการส่งออกสินค้าของสหรัฐไปจีนทรุดหนักถึง 30% เนื่องจากบรรดาบริษัทจีนมองหาแหล่งสินค้าอื่นแทนสหรัฐ
สำนักงานศุลกากรจีน ระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ปรับตัวลง 14% เหลือแค่ 258.3 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วงที่สหรัฐและจีนยังคงทำสงครามการค้าระหว่างกัน การส่งออกของสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมาก และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในเดือนมิ.ย.ลดลง 31.4%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สู่ระดับ 9.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐลดลง 7.8% สู่ระดับ 3.93 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้จีนมีตัวเลขเกินดุลการค้ากับสหรัฐเพิ่มขึ้น 3% สู่ระดับ 2.99 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ กรมศุลกากรของจีนยังเปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของจีนไปยังตลาดโลกลดลง 1.3% ในเดือนมิ.ย. สู่ระดับ 2.128 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าลดลง 7.3% สู่ระดับ 1.619 แสนล้านดอลลาร์
“ปัจจัยภายนอกที่เป็นผลพวงจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มส่งผลต่อการนำเข้าและส่งออกของจีน”นายหลี่ กุ้ยเหวิน โฆษกสำนักงานกรมศุลกากรจีน กล่าว
จีน เริ่มมองหาตลาดหลักอื่นๆเข้ามาอุดช่องโหว่ที่เป็นผลพวงของการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ ปริมาณการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู)ของจีนแซงหน้าสหรัฐ โดยอียูก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าชั้นนำในปี 2547 เพิ่มขึ้น 5% ปีต่อปีเป็น 337.9 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ขยายตัว 4% เป็น 291.8 พันล้านดอลลาร์ แซงหน้าสหรัฐ และหากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไป
ขณะที่เวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียน มียอดส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น 14% ประกอบกับบรรดานักธุรกิจจีนต่างพากันย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้น หรือที่มีฐานการผลิตในเวียดนามอยู่แล้วก็เพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในเวียดนาม
การตอบโต้กันด้วยมาตรการภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐและจีน ก่อผลดีต่อปริมาณการค้าในอาเซียนโดยตรง ยกตัวอย่าง สหรัฐประกาศเก็บภาษีเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากจีนในอัตรา 10% เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว และเก็บเพิ่มในอัตรา 25% ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เฟอร์นิเจอร์ของจีนที่นำเข้าไปสหรัฐปรับตัวลง 11% ทำให้มูลค่าการนำเข้าช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.เหลือเพียง 3.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกเฟอร์นิเจอร์จากอาเซียนไปสหรัฐเพิ่มขึ้น30% เป็น 1พันล้านดอลลาร์
“ลูกค้าอเมริกันต้องการสินค้าราคาถูกเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากภาษีที่เก็บสูงขึ้น และขณะนี้มีบริษัทจำนวนมากเริ่มปฏิเสธคำสั่งซื้อจากสหรัฐ”ผู้จัดการบริษัทส่งออกแห่งหนึ่งในมณฑลเหอเป่ยของจีน กล่าว
เช่นเดียวกับ การส่งออกสินค้าประเภทเซมิคอนดักเตอร์ ที่รัฐบาลวอชิงตันเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% เมื่อปีที่แล้ว ร่วงลง26% ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.แต่การส่งออกไปอาเซียนกลับเพิ่มขึ้น37% ส่วนผลิตภัณฑ์ของเล่นจากจีนที่แม้ขณะนี้ยังไม่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงจากสหรัฐ แต่ผลิตภัณฑ์ของเล่นจีนที่มีมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ส่งออกไปอาเซียนในรอบ 5 เดือนเพิ่มขึ้น 52%