แนะผู้ติดสุรา ใช้วิธี 'ลด' ก่อน 'งด' ป้องกันอาการถอนพิษสุรารุนแรง

แนะผู้ติดสุรา ใช้วิธี 'ลด' ก่อน 'งด' ป้องกันอาการถอนพิษสุรารุนแรง

กรมสุขภาพจิต แนะผู้ที่ติดสุราและต้องการจะงดสุราในช่วงเข้าพรรษานี้ ควรจะค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มสุราลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะงด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

วันนี้ (9 กรกฎาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สุรามีผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ดื่ม เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2560 จากผลสำรวจ พบว่า จากจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้ที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบปีที่แล้วประมาณ 15.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 โดยเป็นผู้ที่ดื่มสม่ำเสมอ 6.98 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.5 และเป็นผู้ที่ดื่มนานๆ ครั้ง 8.91 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.9 ในกลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการดื่มสุราสูงสุด ร้อยละ 36 กลุ่มอายุ 20-24 ปี ดื่มสุราร้อยละ 33.5 กลุ่มอายุ 45-49 ปี ดื่มสุราร้อยละ 31.1 กลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ดื่มสุราร้อยละ 15.2 และกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มสุราต่ำสุด ร้อยละ 13.6

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การดื่มสุราเป็นอันตรายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งปัญหาสุขภาพ เช่น การบาดเจ็บ ที่เกิดจากการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุจราจร การเจ็บป่วย อาทิ ปวดหัว แผลในกระเพาะ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ วิตกกังวล ซึมเศร้า อีกทั้งการใช้สุราในทางที่ผิดและการติดสุรา มักพบร่วมในผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่น ตัวอย่างเช่น ผู้ติดสุราจะเสี่ยงต่อการเกิดโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า 2.1-4.8 เท่า และโรคจิต 6 เท่า ผู้ที่ซึมเศร้าเมื่อดื่มหนักจะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง การดื่มหนักจะทำให้อาการซึมเศร้าและโรควิตกกังวลแย่ลง และการดื่มสุราจะทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทมีผลการรักษาไม่ดี เป็นต้น

โดยลักษณะอาการถอนพิษสุรา คือ ผู้ที่ติดสุราหรือดื่มหนักมากหรือดื่มติดต่อกันหลายวัน เมื่องดหรือหยุดดื่มสุราจะเกิดอาการขาดสุรา หากเกิดระดับไม่รุนแรงมักเกิดขึ้นใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่มสุรา จะเริ่มมีอาการวิตกกังวล รู้สึกกระวนกระวาย เบื่ออาหาร มือสั่น ใจสั่น อาการจะเริ่มหายไปใน 48 ชั่วโมง ส่วนอาการขาดสุราระดับรุนแรง มักเกิดขึ้นหลังงดหรือหยุดดื่มสุรา 12-48 ชั่วโมง เริ่มจากอาการแสดงออกระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากผิดปกติ บุคคลเกิดความสับสนอย่างมาก พร้อมกับอาการมือสั่น ตัวสั่น นอกจากนี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยมีอาการถอนพิษสุรารุนแรง ในวันที่ 3-4 ของการงดดื่มสุรา ทำให้เกิดอาการเพ้อ สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิด หรือเกิดอาการชักได้

ดังนั้น กรมสุขภาพจิตขอแนะนำผู้ติดสุราที่ตั้งใจจะงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ว่าควรจะค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มสุราลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะงด โดยเริ่มลดตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันเข้าพรรษา 17 กรกฎาคม ก็จะสามารถเลิกหรือหยุดดื่มได้อย่างที่ตั้งใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากต้องการงดหรือหยุดดื่มทันทีก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องไปพบแพทย์ก่อนวันที่จะเริ่มงด     โดยแพทย์จะให้ยารับประทาน เพื่อลดการเกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง ทำให้ผู้ที่ต้องการงดเหล้าเข้าพรรษา สามารถงดได้ตามความต้องการอย่างปลอดภัย และสามารถโทรปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตจากสุรา เพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ครอบครัวและคนรอบข้าง ถือเป็นผู้สนับสนุนและผู้สร้างแรงบันดาลใจที่สำคัญในการเลิกดื่มสุรา โดยครอบครัวต้องพร้อมที่จะเข้าใจ เห็นใจ ให้กำลังใจ และยอมรับ เพื่อให้เขารู้ว่า ยังมีครอบครัวที่หวังดีและจริงใจ แม้ในยามเผชิญเหตุการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งจะช่วยให้  ผู้ติดสุรามีความพยายามตั้งใจในการเลิกดื่มได้นานขึ้น โดยครอบครัวหมั่นสำรวจติดตาม และชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จเป็นระยะๆ รวมทั้งกล่าว    ชื่นชมในทุกความสำเร็จ ตลอดจนจะช่วยลดการกลับไปดื่มซ้ำ หลังจากเลิกดื่มสุราแล้ว ไม่ให้กลับไปดื่มอีก อีกทั้งยังสามารถบอกกล่าวให้ไปรับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดสุราหรือผู้ที่มีอาการถอนพิษสุราได้ โดยจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสุรา และให้การปรึกษาเพื่อลดและหยุดดื่มสุรา อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว