Innovation Nation โจทย์ท้าทาย'เอ็นไอเอ'

Innovation Nation โจทย์ท้าทาย'เอ็นไอเอ'

เอ็นไอเอตอบโจทย์กระทรวงใหม่ชู 5 ยุทธศาสตร์เร่งด่วนดันภาพลักษณ์ไทยสู่ “ชาติแห่งนวัตกรรม” สร้างความเข้มแข็งทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเพิ่มทักษะยกระดับบุคลากรด้านคาดการณ์อนาคตเตรียมพร้อมรับคลื่นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่

เปิด 5 แผนงานเร่งด่วน

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ เปิดเผยถึงทิศทางการทำงานหลังมีการประกาศจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว.โดยเอ็นไอเอเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงใหม่นี้ อีกทั้งเข้าสู่วาระที่ 2 (ปี 2562-2566) ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการฯ ว่า มี 5 แผนงานเร่งด่วนในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมไทย

ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงกฎหมายและข้อจำกัดทางการบริหารระบบนวัตกรรม โดยลดข้อจำกัดและสร้างสภาพแวดล้อมเชิงระบบที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรม เช่น การปรับปรุงกฎหมายสตาร์ทอัพ พ.ร.บ. สำหรับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และการประกอบธุรกิจ 2. การสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในภูมิภาค โดยเอ็นไอเอจะทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนราชการท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความสามารถของบุคลากรที่อยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และเพิ่มจำนวนนวัตกรและองค์กรนวัตกรรมในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการลงทุน และส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการขยายผลการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ของพื้นที่

3.การสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถสร้างธุรกิจใหม่ที่ออกไปเติบโตได้ในระดับโลก และมีการสร้างงานแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 20,000 งาน 4. มุ่งกระตุ้นการเติบโตนวัตกรรมด้วยเงินสนับสนุนและการลงทุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน รวมทั้งการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการ 5. การสร้างภาพลักษณ์ประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation) ด้วยการสร้างการยอมรับและความร่วมมือด้านนวัตกรรมด้วยยุทธศาสตร์การทูตนวัตกรรม และ แคมเปญอินโนเวชั่นไทยแลนด์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับทั้งความเชื่อมั่นในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และทำให้นานาประเทศรู้จักกับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทยมากขึ้น โดยวางเป้าหมายให้ประเทศก้าวสู่ 1 ใน 30 อันดับแรกของโลกที่มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างยอดเยี่ยมภายในปี 2573

จุดเปลี่ยนสร้างกำลังคนรับอนาคต

“ในการควบรวมหน่วยงานและปรับโครงสร้างมาเป็นกระทรวงใหม่ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ และจะช่วยให้หลายภาคส่วนมีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายพันธุ์อาจ กล่าว

พร้อมกันนี้ เอ็นไอเอพร้อมจะก้าวสู่การเป็น ผู้สร้างระบบนิเวศ (ecosystem builder) และ สะพานเชื่อม (system integrator) ระหว่างหน่วยงานพันธมิตร นวัตกรและผู้ประกอบการ จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค การเข้าถึงทรัพยากรและการบริการ ลดอุปสรรคในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนขยายผลความร่วมมือไปสู่กิจกรรมเป้าหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

หน้าที่หลักของเอ็นไอเอมี 5 ข้อตามกฎหมายกำหนด คือ 1.ให้ทุนผู้ประกอบการเอกชนหลังกิจกรรมวิจัย 2.เสนอความคิดเห็นด้านนโยบายนวัตกรรมต่อคณะรัฐมนตรี 3. ยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมองค์กรเอกชน 4.พัฒนาองค์ความรู้และสาขานวัตกรรมใหม่ 5.สร้างความตระหนักรู้ แต่จากการประเมินพบว่า 40% เป็นเอกชนรายเดิมที่กลับมาขอทุนใหม่ บ่งบอกว่า การให้ทุนอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโต จึงต้องปรับเปลี่ยนโดยนำแนวทางของสตาร์ทอัพมาใช้ เช่น มีการบ่มเพาะ ให้เงินแล้วเปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูก มีการพิชชิ่งหาเม็ดเงินสนับสนุนก้อนใหญ่ขึ้นจากแหล่งทุนภายนอก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายนวัตกรรมที่ชัดเจน ไม่มีการกำหนดเป้าหมายว่า บริษัทที่ทำนวัตกรรมต้องมีจำนวนเท่าไร เพิ่มขึ้นเท่าไรต่อปี ขณะที่ภาคการศึกษาแม้จะเปิดหลักสูตรด้านนี้แต่ก็ยังมุ่งในเรื่องการสร้างชิ้นงานแล้วเขียนเป้นโครงการมาเสนอขอทุน ทั้งๆ ที่หลักสูตรควรเน้นเรื่องการบริหารจัดการนวัตกรรมในองค์กรธุรกิจ โดยโจทย์เหล่านี้ก็สิ่งที่ทางเอ็นไอเอจะดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่อไป

โมเดลนวัตกรรมเพื่อสังคม

สำหรับการดำเนินงานในปี 2562 ได้มุ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม พบข้อสังเกตว่า คนส่วนใหญ่ในภาคประชาสังคมมองนวัตกรรมเป็นเรื่องไกลตัว เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ฉะนั้น จึงได้สนับสนุนทุนให้กับสตาร์ทอัพด้านโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ที่เสนอโครงการ “โพธิเธียเตอร์” โดยร่วมกับวัดสุทธิวรารามนำดิจิทัลมัลติมีเดียมาใช้ถ่ายทอดบทสวด ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมากและตอบโจทย์ทั้งสังคม ชุมชนและเศรษฐกิจ โดยเตรียมเจรจากับส่วนราชการท้องถิ่นในเชียงใหม่เพื่อนำโมเดลนี้ไปใช้กับวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 

ตอบโจทย์สังคมคือ กิจกรรมนี้เกิดเชื่อมโยงระหว่างรัฐ สถาบันการศึกษา เอกชนและชุมชน โดยช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าวัด ในส่วนนวัตกรรมก็เป็นการสร้างต้นแบบการจัดนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่เดิมในรูปแบบใหม่ ขณะที่ชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ร่วมทำนวัตกรรมด้วย ต่างจากเดิมที่ชุมชนเป็นผู้รับรู้เท่านั้น

“นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องไฮเทคโนโลยี แต่สามารถเกิดได้ทุกที่จากคนทุกสาขาอาชีพ ล่าสุดก็ได้ให้ทุนผู้พิการทางสายตาที่มีโครงการร่วมกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย จัดทำระบบที่ทำให้พวกเขาชมภาพยนตร์ได้อย่างเพลิดเพลินกับกลุ่มเพื่อนๆ เป็นการยอมรับความหลากหลายในสังคม ลดความรู้สึกว่านวัตกรรมจับต้องไม่ได้” นายพันธุ์อาจ กล่าว