ดีป้าถกยักษ์ไอทีเร่งปั้นคนดิจิทัลตั้งเป้า 5 ปี 2 แสน

ดีป้าถกยักษ์ไอทีเร่งปั้นคนดิจิทัลตั้งเป้า 5 ปี 2 แสน

“ดีป้า” ถก 5 ยักษ์ไอทีโลก 18 ก.ค.นี้ หวังปั้นคนดิจิทัลในไทยเพิ่ม สานต่อโครงการพัฒนากำลังคนดิจิทัลตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 ตั้งเป้าผลิต 2 แสนคนใน 5 ปี ครอบคลุุมทักษะอัจฉริยะที่ภาคธุรกิจต้องการ ไอโอที เอไอ ดาต้าไซน์

“ดีป้า” ถก 5 ยักษ์ไอทีโลก 18 ก.ค.นี้ หวังปั้นคนดิจิทัลในไทยเพิ่ม สานต่อโครงการพัฒนากำลังคนดิจิทัลตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 ตั้งเป้าผลิต 2 แสนคนใน 5 ปี ครอบคลุุมทักษะอัจฉริยะที่ภาคธุรกิจต้องการ ไอโอที เอไอ ดาต้าไซน์ พร้อมผนึกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเปิดทางนักศึกษาปี 2-3 เรียนรู้การทำงานจริงกับเอกชน ผุดไอเดียตั้ง “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” สตาร์ทอัพคอมมูนิตี้ รับงานต่างชาติผลิต-ออกแบบโปรดักส์เทคฯ

“ดีป้า” หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งเดินหน้าภารกิจเร่งด่วน พัฒนาบุคลากรทักษะดิจิทัล หนึ่งในจุดอ่อนสำคัญของไทยในการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะทักษะที่โลกยุคใหม่ต้องการ เช่น เอไอ ดาต้าอนาไลติกส์ รวมถึงไอโอที ล่าสุดดีป้าดึงยักษ์ไอที เจ้าของเทคโนโลยีตัวจริงเข้าร่วมขับเคลื่อนภารกิจปั้นคนดิจิทัล เพื่อให้ได้บุคลากรทักษะดิจิทัลตามเป้าหมาย 40,000 คนต่อปี หรือ 200,000 คนภายใน 5 ปี

ดึง5ยักษ์ไอทีปั้นคนดิจิทัล

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สัปดาห์หน้า (18 ก.ค 62) จะร่วมพูดคุยกับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลก 5 บริษัท ประกอบด้วย หัวเว่ย กูเกิล ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ และออราเคิล เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในไทย โดยเห็นว่าบริษัทไอทีดังกล่าวเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีพร้อมให้ Certificate จึงอยากดึงมาร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนากำลังคนดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทักษะด้านดิจิทัลที่ต้องการจะครอบคลุม อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ดาต้าอนาไลติกส์ รวมถึงแมชีนเลิร์นนิ่ง

“เราจะคุยกับทั้ง 5 บริษัทว่า เขาจะสามารถโพรวายด์ Certificated อะไรได้บ้าง เราจะให้ทุกรายนำเสนอ พร้อมทั้งจะให้เอกชนในภาคส่วนต่างๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เทเลคอม ยานยนต์ กลุ่มผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ รวมถึงสภาดิจิทัล ร่วมกันพิจารณาว่าหลักสูตรของบริษัทไอที ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังจะร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้นักศึกษาปี 2-3 ได้ร่วมงานกับภาคเอกชน เพื่อให้เรียนรู้การทำงานจริงด้วย" นายณัฐพล กล่าว

ตั้งเป้า 2 แสนคนใน 5ปี

ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาภายใต้โครงการนี้ ได้ผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลในสาขาโรโบติกแล้วราว 20 คน มีภาคเอกชนต้องการ 8 คน เป็นโครงการนำร่องซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทักษะดิจิทัลที่ยังมีความต้องการมากรองจากด้านเอไอ หรือ โรโบติก คือ ดาต้าไซน์ ที่ไทยยังขาดแคลนมาก ปัจจุบันหากมองในภาพรวมของแรงงานในไทยกว่า 22 ล้านคน ในจำนวนนี้มีทักษะด้านดิจิทัลเพียง 5% เท่านั้น ดังนั้นประเทศยังต้องการบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลเพิ่มอีกมหาศาล ซึ่งดีป้าพร้อมเดินหน้าโครงการ และผสานความร่วมมือทั้งกับภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา

"ในช่วงแรกเราตั้งเป้าจะผลิตคนดิจิทัลให้ได้ 100,000 คนภายใน 5 ปี แต่ทางอีอีซีแจ้งมาว่าไม่เพียงพอ จากที่เราตั้งเป้าไว้ 20,000 คนต่อปี ต้องเพิ่มให้ได้เป็น 40,000 คนต่อปี หรือ 200,000 คนภายใน 5 ปี เราอยากเห็น outcome ใน 5 ปี บุคลากรเหล่านี้ต้องเข้าสู่ภาคธุรกิจได้ 80-90%"

จ่อตั้ง“ไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์”

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้ายังมีโครงการที่เกี่ยวข้อง และพร้อมนำเสนอแนวคิดต่อไป โดยต้องการใช้พื้นที่ในอีอีซีตั้ง “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” คอมมูนิตี้ด้านสตาร์ทอัพ โดยเปิดเป็นศูนย์รับจ้างออกแบบ หรือดีไซน์โปรดักส์ด้านเทคโนโลยีให้ต่างชาติเข้ามาใช้บริการ

“เราได้ไอเดียการทำ ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ จากสิงค์โปร์ โดยเขาจะให้สตาร์ทอัพมาแข่งขันนำเสนอผลงานในพื้นที่ตรงนี้ แล้วให้เอกชน หรือภาคธุรกิจเข้ามาดู ถ้าใครสนใจผลงานก็มาซื้อไป ไทยเราอยากทำแบบนั้น ซึ่งต้องมาคิดว่าเราจะเป็นทั้งผู้ผลิต หรือจะแค่ดีไซน์โปรดักส์ ตอนนี้อยู่ระหว่างการร่างโครงการเพื่อนำเสนอต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดีป้าได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ยูนิตี้ เทคโนโลยีส์ จากกประเทศสิงคโปร์เป็น 3 ปี เพื่อสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลให้เพียงพอและสอดรับกับการพัฒนาของไทย ซึ่งยูนิตี้เป็นผู้นำแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก โดยจะมาร่วมส่งเสริมการพัฒนาทักษะให้แก่เยาวชนและบุคลากรไทยผ่านการเทรนนิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านสื่อในการผสานโลกความจริงและโลกจำลองอย่างกลมกลืน หรือ ที่เรียกว่า อิมเมอร์ซีฟ เทคโนโลยี (Immersive Technology : IMT)

นอกจากนี้ ดีป้าและยูนิตี้ยังได้ร่วมจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรรมดิจิทัล (Centre of Digital Innovation Growth in AR/VR/XR) เพื่อพัฒนาทักษะด้านสื่ออิมเมอร์ซีฟของกำลังคนดิจิทัลไทย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นความพยามยามอย่างต่อเนื่องที่จะอุดช่องว่างการขาดแคลนทักษะดิจิทัลของไทย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ต้องอาศัยบุคลากรด้านดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน