รัฐเข้ม 'อีเอชไอเอ' 2ท่าเรือ

รัฐเข้ม 'อีเอชไอเอ' 2ท่าเรือ

บอร์ดสิ่งแวดล้อม ห่วงผลกระทบจากท่าเรือมาบตาพุด-แหลมฉบัง จี้ ผู้ชนะประมูลคุมของเสียอันตรายจากเรือ ตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหาย ด้าน กทท.ยืนยันทำตามข้อสังเกตบอร์ดสิ่งแวดล้อม

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา

รวมทั้งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยรายงานอีเอชไอเอโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีการถมทะเลรวม 1,000 ไร่ เป็นพื้นที่หลังท่ารองรับการใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และบ่อกักเก็บตะกอน 450 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบถนน ระบบประปา ระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำเสีย ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสารและระบบป้องกันอัคคีภัย

รัฐเข้ม \'อีเอชไอเอ\' 2ท่าเรือ

ห่วงแหลมฉบังถมทะเล3พันไร่

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีพื้นที่ถมทะเลประมาณ 3,375 ไร่ เพื่อจะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนโครงข่ายและระบบขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็น และมีความพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่างๆ ได้ทันท่วงที โดยไม่ให้มีปัญหาด้านความแออัดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ หรือส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบอีเอชไอเอทั้ง 2 โครงการ ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) โดยให้เจ้าของโครงการและหน่วยงานอนุญาตได้รับความเห็นขอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการให้ภาคเอกชนเป็นผู้จัดการของเสียอันตรายที่มาจากท่าเรือตามหลักการที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษทางเรือ (International Convention for the Prevent of Pollution from Ship หรือ MARPOL 73/78)

จี้ตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ

รวมถึงหลักการที่กำหนดในการประเมินการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินเรือ มาตรการควบคุมและติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive alien species) การป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการจัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหาย โดยต้องรับผิดชอบการถมทะเลในขั้นที่ 1-2 ด้วย และดำเนินการ 3 แนวทาง คือ

1.ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงานอีเอชไอเออย่างเคร่งครัด
2.ให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้

3.นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอ ครม.เพื่อประกอบการพิจารณา ตามมาตรา 49 และมาตรา 51/6 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ต่อไป

ชง ครม. เคาะสัญญามาบตาพุด

สำหรับการประมูลพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติร่างสัญญาแล้วและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต้นเดือน ก.ค.นี้ ก่อนที่ กนอ.จะลงนามกับกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์ ประกอบด้วย บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (บริษัทในกลุ่ม ปตท.)
ส่วนการประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยื่นประมูล 2 ราย คือ 1.กิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วยบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited

2.กิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วยบริษัท นทลิน, บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้, บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง และ China Railway Construction Corporation Limited ซึ่งเบื้องต้นถูกตัดสิทธิการประมูล

กทท.เด้งรับบอร์ดสิ่งแวดล้อม

ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบอีเอชไอเอท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 แล้ว โดย กทท.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการจะดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องการให้ กทท.วางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ กทท.กำหนดมาตรการไว้แล้ว เพียงแต่จะนำมาดำเนินการอย่างเคร่งครัด

ส่วนประเด็นที่มีข้อสังเกตให้ กทท.ตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ขณะนี้ กทท.กำหนดขอบเขตทีโออาร์งานก่อสร้างแล้ว โดยให้ผู้รับเหมาจัดกองทุนบางส่วนเพื่อสำรองใช้จ่ายในกรณีเกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ 3