โรดโชว์วังจันทร์วัลเลย์ ปตท.ดึงลงทุนนวัตกรรม

โรดโชว์วังจันทร์วัลเลย์ ปตท.ดึงลงทุนนวัตกรรม

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ ในพื้นที่จังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ถูกกำหนดให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย

รวมถึงเป็นกลไกพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมและยกระดับอุตสาหกรรมใหม่ โดยนำร่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก่อนที่จะขยายไปพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ซึ่งอีอีซีไอจะส่งเสริมให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการพัฒนาบุคลากรที่สำคัญ

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมจัดโรดโชว์เพื่อเปิดให้นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้เข้ามาเช่าใช้พื้นที่สำหรับตั้งโรงงานวิจัยและศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัทในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซีไอ

แผนงานดังกล่าวจะเป็นการผลักดันให้เกิดศูนย์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับประเทศ รองรับกิจกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่อีอีซีไอ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทลูกของกลุ่ม ปตท.ที่เริ่มเข้าไปเช่าพื้นที่แล้ว เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

โรดโชว์วังจันทร์วัลเลย์ ปตท.ดึงลงทุนนวัตกรรม

รวมทั้งมีความร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่หลายราย เช่น การลงนามระหว่าง ปตท.กับ บริษัท จีอี ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนนโยบาย “Thailand 4.0” ในการพัฒนาคนและการศึกษา รวมถึงขยายผลไปสู่การดำเนินการวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ในอีอีซีไอ รวมทั้งมีการลงนามความร่วมมือกับ บริษัทหัวเว่ย เพื่อพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม และมีความร่วมมือกับ บริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี

ในขณะที่ บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ก็เป็นคู่ค้าที่ทำเรื่องของการพัฒนาระบบ ซึ่งมีฐานผลิตอยู่แล้วก็จะได้เปรียบ รวมถึงการกำลังรวบรวมรายชื่อคู่ค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นคู่ค้า ปตท.กว่า 40 แห่ง หรือ ที่มีอยู่ประมาณ 300-500 ราย เพื่อเชิญชวนให้ทยอยเข้ามาร่วมด้วยลงทุนงานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ด้วย โดยยังมีเวลาที่จะดำเนินการโรดโชว์ เพราะอีอีซีไอยังอยู่ระหว่างการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธรณูปโภคในพื้นที่ ต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ

“การเปิดตัวอีอีซีไอจะดำเนินการหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะจัดโรดโชว์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หรือ ไตรมาส 1 ปี 2563 เพื่อดึงการลงทุนวิจัยและพัฒนา"

การโรดโชว์ดังกล่าวจะเชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยมาบรรยาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่พื้นที่

ทั้งนี้ หากจัดโรดโชว์ในประเทศไทยเสร็จแล้วก็จะจะไปเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศที่เป็นกลุ่มมีนวัตกรรม เช่น ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ซึ่ง ปตท.จะไปเป็นทีมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และมีแผนไปโรดโชว์ยุโรป 2-3 ครั้ง จะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน พ.ค.2563

“ปตท.หวังให้ไทยสร้างนวัตกรรมและโซลูชั่นใหม่ให้ประเทศ ซึ่งคนไทยมีความรู้ที่จะดำเนินการเองได้ แต่อาจขาดความพร้อมบางเรื่องจึงต้องร่วมมือกันสนับสนุน”

ในขณะที่คณะกรรมการ ปตท.ยืนยันจัดสรรงบสนับสนุน โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อเนื่องอีก 10 ปี (2565-2574) จากเดิมที่จัดสรรงบถึงปี 2564
รวมทั้งที่ผ่านมามีสถานบันการเงิน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย มาสนับสนุน รวมถึงมีบริษัทต่างๆ มาสนับสนุน สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และสนามกีฬา เป็นต้น อีกทั้งมีแผนจะไปชักชวนบริษัทในเครือ ปตท.มาช่วยลงทุนด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเชื่อมั่นการดำเนินงานของสถาบันวิทยสิริเมธี โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนเงินทุน 180 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน โดยตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้าได้ดี และมีแผนจะนำไปใช้กับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานสนับสนุนด้วย

กลุ่ม ปตท.ยังได้วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่หลายโครงการ เช่น บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ลงนามสัญญากับบริษัท 24M Technologies จากสหรัฐ เพื่อรับสิทธิดำเนินการธุรกิจผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ในอาเซียน
ขณะที่สถาบันนวัตกรรมของ ปตท. ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้วิจัยและพัฒนาตัวชาร์จแบตเตอรี่ สำหรับชาร์จในรถยนต์และมีแผนผลิตเชิงพาณิชย์

“สิ่งที่ศึกษาจะมาเร็วหรือช้า ก็ต้องศึกษาไว้ ถามว่า จะทำสำเร็จ 100% หรือไม่ ตอบไม่ได้ แต่ก็ต้องศึกษาไว้ก่อน”
สำหรับการพัฒนาอีอีซีไอ มีพื้นที่ 3,500 ไร่ เฟสแรกใช้งบ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.Community Zone 2.Innovation Zone และ 3.Education Zone ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยลดการขาดดุลการค้ากรณีต้องซื้อสิทธิบัตรการใช้นวัตกรรมจากต่างประเทศ