เผย 4 ตำแหน่งในร่างกายที่เจอ 'วัณโรค' มากที่สุด

เผย 4 ตำแหน่งในร่างกายที่เจอ 'วัณโรค' มากที่สุด

กรมควบคุมโรค เผยไทยติด 1 ใน 14 ประเทศวัณโรคสูง ป่วยราว 1.2 แสนคน กว่า 40,000 คนหลุดรอดจากระบบ ตายปีละ 1.2 หมื่นคน ย้ำวัณโรคเกิดได้ทุกอวัยวะร่างกาย รักษาหายกินยาต่อเนื่อง 6 เดือน แนะคนไอเรื้อรังควรรับการตรวจคัดกรองวัณโรค

พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องวัณโรคมาตลอด โดยติด 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีวัณโรคสูง และมีปัญหาครบ 3 ด้าน คือ ผู้ป่วยวัณโรคสูง ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาสูง และผู้ป่วยวัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยสูง แสดงว่าที่ผ่านมาควบคุมได้ไม่ดีพอ ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 20 ล้านคน มีอาการป่วยแล้ว 1.2 แสนคน คิดเป็นอัตราป่วย 156 ต่อแสนประชากร เสียชีวิตปีละประมาณ 1.2 หมื่นคน ทั้งนี้ในจำนวนผู้ป่วย 1.2 แสนคน พบว่ามีผู้เข้าระบบเพียง 8 หมื่นราย คิดเป็น 75 % ที่เหลืออีก 40,000 คนไม่ทราบไปไหน แต่อยู่ระหว่างการค้นหาเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด โดยที่ผ่านมมีการค้นหาทั้งในกลุ่มผู้ต้องขัง ซึ่งในจำนวนประมาณ 3 แสนรายเจอผู้ติดเชื้อประมาณ 4-5 พันราย ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวก็พบจำนวนมาก ซึ่งมีการหารือเรื่องการค้นหาในกลุ่มนี้อยู่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเพราะต้องสัมผัสผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา จึงมีความเสี่ยง

"วัณโรคสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งของร่างกายพบมากอันดับหนึ่งหรือ80% พบที่ปอด รองลงมาคือวัณโรคกระดูก วัณโรคต่อมน้ำเหลือง และวัณโรคผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งวัณโรคปอดสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางลมหายใจ ส่วนวัณโรคโพรงจมูกกรณีของน้ำตาล เดอะสตาร์นั้น เจอได้น้อย อัตราเสียชีวิตต่ำ ส่วนใหญ่แล้วรักษาหายได้ และวัณโรคโพรงจมูกไม่ได้ติดต่อกัน มักเป็นเฉพาะตัว และมักเกิดจากปอดก่อนแล้วโรคค่อยขึ้นไปที่โพรงจมูก แต่ที่โพรงจมูกจะมีเส้นเลือดฝอยเยอะ ธรรมชาติของวัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีการกัดเส้นเลือด หากกัดเส้นเลือดจุดสำคัญก็ทำให้เลือดทะลักได้ กรณีน้ำตาล ไม่ทราบว่าเกิดการติดเชื้อตอนไหน แต่สำหรับผู้ติดเชื้อหากร่างกายอ่อนแอ เม็ดเลือดขาวต่ำก็จะทำให้เกิดการป่วยได้ และภาวะเกร็ดเลือดต่ำก็ทำให้ไม่มีตัวไปห้ามเลือด ทำให้เลือดทะลัก และอาจจะเกิดวัณโรคที่ปอดมาก่อนหรือไม่ จริงๆ อยากให้ครอบครัวของน้ำตาลได้มีการตรวจหาเชื้อด้วย เพราะหากมีการติดเชื้อที่ปอดจริงจุดนี้สามารถติดต่อกันได้" พญ.ผลิน กล่าว

ผอ.กองวัณโรค กล่าวอีกว่า หากเป็นวัณโรคปอด เชื้อจะออกมาทางลมหายใจ สามารถติดต่อกันได้ ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วกว่าจะป่วย บางคนใช้เวลาเร็วสุด 2 ปี บางคนช้าสุดเป็น 10 ปี อย่างไรก็ตาม ระยะแพร่เชื้อคือช่วง 3 เดือนก่อนป่วย แต่ถ้าได้รับยาแล้ว ภายใน 2 สัปดาห์เชื้อจะตายถึง 90 % ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องการติดต่อ ยืนยันว่าวัณโรคทุกตำแหน่งรักษาเหมือนกัน หายได้ โดยการกินยาต่อเนื่องกัน 6 เดือน ห้ามขาดยาเด็ดขาด เพราะถ้าขาดยาจะทำให้เกิดการดื้อยาได้ ต้องเปลี่ยนการรักษาเป็นฉีดยา 6 เดือน กินยา 2 ปี ค่ายา 2 แสนบาทต่อคนต่อปี แต่หากยังดำเนินการตรงนี้ได้ไม่ดี กินบ้างไม่กินบ้าง ฉีดยาบ้างไม่ฉีดบ้างก็จะกลายเป็นวัณโรคดื้อยารุนแรง ต้องเปลี่ยนการรักษาใหม่ซึ่งยากกว่าเดิม ค่ายาจะเพิ่มเป็น 1.2 ล้านบาท ต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ช่วง 3 ปี รัฐบาลและกระทวงสาธารณสุขพยายามค้นหาผู้ป่วยมาตลอด เพื่อให้เข้าสู่การรักษา โดยรัฐสนับสนุนทั้งยาฟรี รักษาฟรี จึงอยากให้ประชาชนตระหนักเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะถ้ามีปัญหาไอเรื้อรัง และเมื่อเข้าสู่การรักษาแล้วขอให้กินยาอย่างเคร่งครัด ทำให้หายได้