สศอ.ผุดแผนอิเล็กฯอัจฉริยะ

สศอ.ผุดแผนอิเล็กฯอัจฉริยะ

เร่งแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ปรับการผลิตเดิมให้ทันสมัย แข่งขันได้ในอนาคต เน้นผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ ติดตั้งเซ็นเซอร์ ยกระดับโรงงาน เครื่องจักร เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ยกระดับเครื่องจักรการเกษตรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศอ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยในเบื้องต้นจะประกอบด้วย 4 แผนย่อย ได้แก่ 1.มาตรการการพัฒนาชิ้นส่วน และยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดิม โดยการยกระดับผู้ผลิตอุตสาหกรรมเดิม เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าพื้นฐานทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรม IC Design, Wafer fab, Embedded Software และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

สศอ.ผุดแผนอิเล็กฯอัจฉริยะ

2.มาตรการพัฒนา System Developer (SD) เพื่อที่จะสร้าง “IoT Platform” จัดตั้ง “CoSEE” (Center of Smart EE) ปรับสิทธิประโยชน์การลงทุนให้ครอบคลุม SD ทุกประเภท กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ Smart EE และสนับสนุนห้องปฏิบัติการทดสอบ
หนุนมาตรการกระตุ้นตลาด

3.มาตรการกระตุ้นตลาด โดยการปรับสิทธิประโยชน์ให้โรงงานที่ใช้ Smart EE ปรับสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนการใช้ Smart EE ในการ Momitor เครื่องจักร เพื่อช่วย Safe declare และกำหนดมาตรฐานโครงการ Smart City รวมถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะลงทุนใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ และยกเว้นอากรนำเข้าอุปกรณ์ที่นำมาผลิต Smart EE
4.มาตรการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยการกำหนดแนวทางและส่งเสริมการกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร

ออกแบบเชิงวิศวกรรมอิเล็กฯ

นายณัฐพล กล่าวว่า แผนดังกล่าวจะเน้นใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การออกแบบสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การออกแบบด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงซอฟท์แวร์ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งการสนับสนุนตลาดอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น เซ็นเซอร์ติดตั้งโรงงาน เครื่องจักรในโรงงาน ยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 การผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยยกระดับการผลิตของไทยไปสู่ยุค 4.0 ทั้งระบบ

มิติที่ 2 ดูแลเรื่องการกำจัดกากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยเน้นการผลิตในรูปแบบเซอร์คูลาร์อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะต้องเป็นการผลิตที่มีของเหลือทิ้งน้อยที่สุด และสินค้าที่ผลิตได้จะต้องนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อลดกากอุตสาหกรรมให้เหลือน้อยที่สุด

ผลิตสินค้าสำหรับอนาคต

มิติที่ 3 การส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต โดยจะพิจารณาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ตัวไหนที่ล้าสมัย ในอนาคตไม่สามารถจะแข่งขันได้ เพื่อจัดทำแผนปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต เช่น การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก แต่จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ยอดขายในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากไม่เร่งปรับปรุง ก็จะกระทบต่อยอดการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของไทยได้

“สศอ.ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำแผนดังกล่าว เพื่อให้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทนอยู่รอด และแข่งขันได้ในอนาคต โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่พิจารณา จากนั้นส่งไปที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และส่งไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป”

ส.อ.ท.ลุยยุทธ3ศาสตร์

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะดังกล่าว สอดคล้องกับแผนของสภาอุตสาหกรรม (ส.อท.) ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ย่อย 3 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยจะเน้นการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับพฤฒิกรรมของลูกค้ามากขึ้น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้า จึงได้กำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ “Mass Customization for Customers Segmentation”

โดยเน้นด้านการออกแบบรูปลักษณ์สินค้าและปรับวิธีการใช้งานให้สอดคล้องกับพฤฒิกรรมผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาให้สินค้าประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความฉลาดและเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้

2.ยุทธศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อกับห่วงโซ่การผลิตของโลก โดยในปัจจุบันชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลไกสำคัญในการสร้างนวัตกรรม โดยมีปัจจัยผลักดัน คือ ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความฉลาด มีขนาดเล็กลง แต่มีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้

ดังนั้น ตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ คือ “Advance & Effective Electronics Manufacturer” โดยการพัฒนากระบวนการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น ยกระดับผู้ผลิตจาก OEM ให้เป็น Electronics Manufacturing Service (EMS) โดยการเพิ่มการออกแบบเชิงวิศวกรรม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ และเครื่องกลจุลภาคใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร ระบบจัดการพลังงานฉลาด อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ การเกษตร ไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ฉลาดขึ้น

บริการติดตั้งระบบครบวงจร

3.ยุทธศาสตร์ไฟฟ้ากำลัง มีเป้าหมายเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรที่มีมาตรฐานการติดตั้งและให้บริการอย่างมืออาชีพ โดยในขณะนี้มีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น และการพัฒนาเป็นระบบจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้ากำลังต้องอาศัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งไทยมีจุดแข็งทางด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ได้รับการยอมรับ
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เป็น “Total Solution Service Provider” เพื่อยกระดับผู้ผลิตไทยให้เป็นผู้ให้บริการครบวงจรที่มีมาตรฐานการติดตั้ง และให้บริการอย่างมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศในอาเซียน ที่กำลังลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการเชิงรุกในการเข้าสู่ตลาดโดยใช้จุดแข็งที่ไทยมีอยู่ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องมาตรฐาน ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ไทย หรือการเข้าไปสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับอาเซียน เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับมากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ผลิตรุกเข้าตลาดในลักษณะกลุ่มความร่วมมือที่มีสินค้าและบริการอย่างครบวงจร