ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 24 - 28 มิ.ย. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 17 - 21 มิ.ย. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 24 - 28 มิ.ย. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 17 - 21 มิ.ย. 62

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน จากความไม่สงบในตะวันออกกลางท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 – 59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 - 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 - 28 มิ.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน จากแรงหนุนของความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางปรับตัวลดลง ประกอบกับสงครามการค้าคาดมีทิศทางบวก หลังสหรัฐฯ จะเจรจากับจีนในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เพื่อหาข้อสรุปของสงครามการค้าในวันที่ 28-29 มิ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลางปรับตัวลดลง ล่าสุด อิหร่านยิงสกัดโดรนลาดตระเวนของสหรัฐฯ ใกล้บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอิหร่าน หลังสหรัฐฯ ส่งทหารอีก 1,500 นายไปประจำการในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ทำการตอบโต้โดยการอนุมัติการโจมตีทางทหารต่ออิหร่าน แต่ภายหลังได้ยกเลิกคำสั่งในเวลาต่อมา
  •  ปริมาณน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ของ 7 แหล่งผลิตใหญ่ในสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 62 ว่าจะปรับสูงขึ้นราว 70,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดที่ 8.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย EIA คาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Permian, Bakken, Niobrara จะปรับสูงขึ้นจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน, 44 ล้านบาร์เรลต่อวัน, และ 730,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ
  • ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มถูกกดดันต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจของจีน โดยตัวเลขการเติบโตผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนในเดือน พ.ค. 62 ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ที่ร้อยละ 5 นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ยังได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2562 ลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์เดิม สู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ติดตามความคืบหน้าของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์เผยว่าจะมีการพบปะกับนายสี จิ้นผิงเพื่อทำการเจรจาทางการค้าในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย. 62 ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น หากสงครามการค้าคลี่คลาย จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นและความต้องการใช้น้ำมันโลกสูงขึ้น
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/62 สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 - 21 มิ.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 57.43 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 65.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์เรือขนส่งน้ำมันสองลำถูกโจมตีบริเวณอ่าวโอมานและอิหร่านยิงโดรนลาดตระเวนของสหรัฐฯ ตกบริเวณเหนือน่านฟ้าทางตอนใต้ของอิหร่าน ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลางจะปรับลดลง นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ปรับตัวลดลงราว 3.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 482.4 ล้านบาร์เรล ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการเติบโตผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก