ดีอีถอยรื้อเกณฑ์ “ดิจิทัลพาร์ค”

ดีอีถอยรื้อเกณฑ์ “ดิจิทัลพาร์ค”

หลังเปิดประมูลรอบแรกไร้เงาเอกชนเข้าร่วม

กระทรวงดีอีเร่งนำร่างเงื่อนไขสัญญาก่อสร้าง “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” หลังเปิดเวทีให้เอกชนรับฟังอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. คาดเตรียมรวบรวมความเห็น พร้อมออกร่างสัญญาใหม่ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถเปิดขายซองภายในเดือน ส.ค. และ เริ่ม ประมูลช่วงเดือน ต.ค.นี้ เผยสาเหตุที่ผ่านมาไร้เงาเอกชนยื่นซองประมูลมาจากบังคับให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 3% จากรายได้ ตลอดการทำโครงการ 50 ปี คาดเป็นตัวเลขที่มากไป ขณะเดียวกันยังบังคับให้ทำโครงการเฟสแรกเสร็จภายใน 2 ปี

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน โครงการ ดิจิทัล พาร์ค อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใต้การทำโครงการของ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ภายหลัง เมื่อ วันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้เปิดให้เอกชน ที่สนใจเข้าร่วมบริหารพื้นที่โครงการยื่นซองประมูล แต่กลับไม่มีใครสนใจนั้น กระทรวงดีอีได้ดำเนินการปรับเงื่อนไขใหม่แล้ว โดยได้นำร่างเงื่อนไขสัญญาเปิดเวทีให้เอกชนรับฟังอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา จาก นั้นจะรวบรวมความเห็นและออกร่างสัญญาใหม่ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถเปิดขายซองภายในเดือน ส.ค. และ เริ่ม ประมูลช่วงเดือน ต.ค.นี้

สำหรับเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีผู้สนใจร่วมโครงการ น่าจะมาจาก การบังคับให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 3% จากรายได้ ไม่ใช่กำไร และให้บอกส่วนแบ่งที่จะจ่ายให้เท่ากันทุกปีตลอดการทำโครงการ 50 ปี จึงมองว่าเป็นตัวเลขที่มากไป ขณะเดียวกันยังบังคับให้ทำโครงการเฟสแรก จำนวน 90,000 ตรม.ให้เสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเร็วกว่าการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเสร็จภายใน 5 ปี รวมถึงค่าเช่าพื้นที่ที่ต้องจ่ายให้รัฐตั้งแต่ปีแรกด้วย

ดังนั้น จึงมีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้มีความเหมาะสม เพราะรัฐไม่ต้องการแสวงหาผลกำไร แต่ต้องสร้างพื้นที่ให้เป็นดิจิทัล พาร์ค ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ การยกเลิกส่วนแบ่งรายได้แบบคงที่ ให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยเอกชนสามารถเสนอมาได้อย่างอิสระ อาจจะเป็น 0% ใน 5 ปีแรก และ ปีถัดๆ ไป ไม่จำเป็นตัองเท่ากันทุกปีก็ได้ โดยตัวเลขการคาดการณ์รายได้ในอนาคตเอกชนไม่ต้องกำหนดเท่ากันทุกปี และต้องจ่ายให้รัฐ 50% ของเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งรายได้ที่เสนอ

ส่วนค่าเช่า จะเว้นให้ 5 ปี และกำลังพิจารณาว่าจะแบ่งการจ่ายออกเป็น 10 หรือ 30 งวด ซึ่งค่าเช่าจะคิดในรูปแบบรัฐให้รัฐเช่า คือ 120 บาทต่อไร่ต่อปี ส่วนเรื่องการส่งมอบงานเฟสแรกจะขยายเป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่

"การขอสิทธิพิเศษของกสทฯ จะเป็นจุดหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจเข้ามาบริหารพื้นที่หรือไม่นั้น ต้องมาดูว่าการขอพื้นที่ 10 ไร่ โดยเอกชนต้องดำเนินการสร้างอพาร์ทเม้น 70 ห้อง ให้พนักงานของกสทฯ ล้วนเป็นต้นทุนเพิ่ม ในขณะที่สัญญาเช่าแบบพีพีพี ต้องโอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างคืนให้รัฐเมื่อหมดสัญญา จึงถือเป็นข้อจำกัดในการชวนรายอื่นมาเช่าพื้นที่"

ผู้สื่อข่าวรายงาน โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ตอนที่เปิดให้ซื้อซองมีเอกชนมาซื้อซอง 16 ราย แต่พอครบกำหนดยื่นประมูลกลับไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วมเลย ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง ตัวแทนจาก กสทฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการเชื่อมต่ออย่างแน่นอน ส่วนพื้นที่ที่มีมอเตอร์ เวย์ คั่นนั้น ก็ไม่มีการระบุในเงื่อนไขสัญญาให้เสนอแผนการเชื่อมต่อ แต่อย่างใด จึงเปิดกว้างให้กับเอกชนสามารถออกแบบได้ตามความเหมาะสม

ขณะที่ประเด็นการสร้างอาคารพนักงานนั้น กสทฯจะนำกลับไปคิดต่อว่าจะสามารถช่วยลดหย่อนใดๆให้เอกชนได้บ้าง แต่เรื่องการทำท่อร้อยสายนั้น กสท โทรคมนาคม ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการผูกขาด แต่มีความจำเป็นต้องขุดท่อพร้อมการสร้างโครงการ และ ค่าบริการจะเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดแน่นอน