'เพื่อไทย' บอกไม่มีเหตุผล 'ชวน' ปฏิเสธญัตติฝ่ายค้านตั้ง กมธ.ตรวจสอบสรรหา ส.ว.

'เพื่อไทย' บอกไม่มีเหตุผล 'ชวน' ปฏิเสธญัตติฝ่ายค้านตั้ง กมธ.ตรวจสอบสรรหา ส.ว.

"ทีมโฆษกเพื่อไทย" ชี้ญัตติเสนอตั้ง กมธ.ศึกษา ตรวจสอบกระบวนการสรรหา ไม่ใช่คุณสมบัติ ส.ว. เป็นอํานาจหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.62 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวเรื่องความรับผิดชอบทางกฎหมายและทางการเมืองของ คสช. กรณีปกปิดกรรมการสรรหา ส.ว.

โดย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 บนตำแหน่ง หัวหน้า คสช. มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 9-12 คนที่คัดเลือก ส.ว.250 คน รวมทั้งต้องประกาศรายชื่อสำรอง ส.ว. แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ปกปิดคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่นำคำสั่งไปประกาศในราชกิจจาฯ และกระบวนการการหา ส.ว.หลายขั้นตอน ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้การสรรหา ส.ว. เป็นโมฆะ ซึ่งกรณีนี้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนและสื่อมวลชน ดังนั้นการตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วนำมารายงานให้สภาฯ รับทราบ จึงเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร

นางลดาวัลลิ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ไม่มีเหตุผลใดที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะปฏิเสธไม่บรรจุญัตติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษา สอบสวนกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ ที่บัญญัติว่าการพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาเรื่องใดๆ เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาฯ ญัตติของพรรคฝ่ายค้านไม่ใช่การตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. แต่เป็นการตรวจสอบกระบวนการสรรหา ส.ว. เป็นการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. และ คสช.คนอื่นๆ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมือง เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำมานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่ หรือผิดพลาดบกพร่องในขั้นตอนไหนอย่างไร

ด้าน นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนยังเห็นว่ากระบวนการสรรหา ส.ว. ที่มีคณะกรรมการสรรหา เป็น คสช. ตามที่เป็นข่าวนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์และความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายค่อนข้างชัดเจน ส่งผลให้สถานะ ส.ว. ตลอดจนการกระทำหรือการลงมติใดๆ ของ ส.ว.ดังกล่าวเป็นโมฆะไปด้วย และเมื่อได้โหวตเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็ต้องถือว่าไม่มีผลใดๆ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หลังจากนี้ หากมีการนำประเด็นนี้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องด้วยอาจจะพังกันทั้งองคาพยพ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 210 (2)

ส่วนตัวเชื่อว่าในที่สุดแล้ว เมื่อสิ้น ม.44 และอำนาจเผด็จการอ่อนกำลังลง กระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องรักษาบ้านเมืองเอาไว้ ซึ่งอำนาจเผด็จการไม่สามารถดำรงอยู่ได้นานท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนักหน่วงของมหาชน ทั้งนี้นอกจากกระบวนการสรรหา ส.ว. ที่ดำเนินการอย่างปกปิดและผิดทำนองคลองธรรมทั้งที่ ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชาวไทย เข้ามาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติไม่ใช่ทำแบบเด็กเล่นแล้ว คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. จะต้องรับผิดชอบโดยอาจจะต้องเผชิญทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง ขณะที่ความเสียหายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือกระบวนการสรรหา ส.ว.ที่อาจจะเกี่ยวพันคดีทุจริต ประวัติด่างพร้อยหลายคนเข้มาเป็น ส.ว. ซึ่งเรื่องนี้จะได้ถูกตรวจสอบและเปิดเผยให้สังคมได้รับทราบต่อไป