ดึง 'ญี่ปุ่น' ผลิตคนทักษะสูง

ดึง 'ญี่ปุ่น' ผลิตคนทักษะสูง

"รัฐ-เอกชน" จับมือ 14 หน่วยงาน 30 บริษัทผลิตเครื่องจักร หุ่นยนต์ชั้นนำ ตั้งสถาบัน SIMTec ผลิตบุคลากรทักษะชั้นสูงป้อนอีอีซี 3 หมื่นคนต่อปี ด้าน กสอ.หนุนเต็ม ดันเอกชนร่วมผลิตแรงงานยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0

นายทองพล อุลปาทร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec) กล่าวว่า บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานชั้นนำของไทย มีลูกค้ากว่า 10,000 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งในการขายเครื่องจักรเหล่านี้จึงต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรในโรงงานควบคู่ไปด้วย ดังนั้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้เข้าไปร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอาชีวะต่างๆ ในการให้ความรู้ในเรื่องเครื่องจักรกับนักศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงมาก การลงทุนในไทยลดลง เพราะมีการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งบุคลากรของไทยยังขาดทักษะความรู้ในการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่และหุ่นยนต์ ทำให้โรงงานต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถได้ยาก ในขณะที่ภาครัฐก็มีข้อจำกัดในการสร้างบุคลากร เพราะเครื่องจักรสมัยใหม่มีราคาแพงทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่สามารถจัดหามาฝึกอบรมนักศึกษาได้

ดึง \'ญี่ปุ่น\' ผลิตคนทักษะสูง

ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งสถาบัน SIMTec ขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรมาป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้แรงงานมีคุณภาพสูงรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับ 14 หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สถาบันยานยนต์ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สถาบันไทย-เยอรมัน สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และบริษัทเครือสุมิพล จำกัด

ญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนฯ

โดยทั้ง 14 หน่วยงานจะเข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหารสถาบันแห่งนี้ ซึ่งจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านที่ถนัด เช่น บางหน่วยงานจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอน สนับสนุนด้านการเงิน สนับสนุนเครื่องจักร หรือด้านเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนการฝึกอบรมจะมี 3 แนวทาง 1.การใช้ครูผู้ส่วนของสถาบันมาถ่ายทอดให้ความรู้ 2.ร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรอบรมให้ความรู้ในการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ และ 3.ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ส่งอาจารย์เข้ามาช่วยฝึกอบรม

สำหรับการลงทุนในสถาบัน SMITec ทาง สุมิพล คอร์ปอเรชั่น ได้ลงทุนซื้อที่ดิน 7 ไร่ และสร้างอาคารรวม 300 ล้านบาท และบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรให้การสนับสนุนเครื่องจักรและหุ่นยนต์ใช้ในการเรียนอีกกว่า 120 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ และล่าสุดได้ขยายไปซื้อที่ดินเพิ่มอีก 10 ไร่ เพื่อรองรับการขยายสถาบันในอนาคตต่อไป

“สถาบันแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตเครื่องจักร และหุ่นยนต์ จากบริษัทชั้นนำของโลกส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่นรวมแล้วกว่า 30 ราย ให้การสนับสนุนเครื่องจักร และอุปกรณ์ ในจำนวนนี้มี 10 บริษัท ได้สนับสนุนเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ทันสมัย โดยบริษัทเหล่านี้จะนำเครื่องจักรและหุ่นยนต์มาเปลี่ยนทุก 2-3 ปี เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสและใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยตลอดเวลา รวมทั้งยังได้จัดทำหลักสูตรออโตเมชั่นและไอโอที”

อุดหนุนงบฝึกอบรม

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเรียนนั้น ในช่วงแรกมองว่าจะไม่เก็บค่าเรียน หรือเก็บให้น้อยที่สุด แต่พบว่าหากทำเช่นนั้นจะเป็นการดึงนักศึกษาจากสถาบันการฝึกอบรมเดิมของรัฐ และทำให้สถานที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับ จึงได้คิดอัตราค่าเรียนเท่ากับสถาบันฝึกอบรมของภาครัฐ เช่น สถาบันไทย-เยอรมัน ที่เก็บในอัตรา 2,500 บาทต่อวัน ในส่วนของบุคลากรที่โรงงานขนาดใหญ่ส่งเข้ามาฝึกอบรม
ส่วนโรงงานขนาดเล็ก หรือบุคลากรในโรงงานทั่วไปที่อยากเข้ามาศึกษาเพื่อยกระดับทักษะวิชาชีพการทำงาน ก็จะมีเงินจากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าว่าผู้ที่เข้ามาฝึกอบรมจะมาจากบุคลากรในโรงงาน 80% ที่เหลืออีก 20% จะเป็นการฝึกอบรมครูโรงเรียนอาชีวะ เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีเครื่องจักรสมัยใหม่ เพื่อนำไปสอนนักศึกษาต่อไป

ด้านมาตรการการฝึกอบรมนั้น จะมีการวัดผลที่เข้มงวด จะมีแบบสอบถามไปยังหัวหน้างานของผู้ที่เข้าฝึกอบรมถึงว่าสามารถนำเอาความรู้ไปประยุกต์เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานจริงได้หรือไม่ มีอาจารย์จากสถาบันไปตรวจสอบในโรงงานจริง เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมมีคุณภาพได้ตรงตามมาตรฐาน

ฮับผลิตคนป้อนนิคมฯ

นอกจากนี้ สถาบัน SIMTec ยังจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรเพื่อป้อนให้กับอีอีซี เนื่องจากระยะทางโดยรอบการเดินทาง 1 ชั่วโมง จะมีนิคมอุตสาหกรรม 29 แห่ง มีโรงงานกว่า 3,786 แห่ง มีแรงงานกว่า 3.6 แสนคน จึงเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี โดยคาดว่าในปี 2563 จะผลิตบุคลากรได้ 7,000 คน และตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปจะเริ่มผลิตบุคลากรเต็มรูปแบบคาดว่าจะฝึกอบรมได้ 30,000-40,000 คนต่อปี ช่วยยกระดับโรงงานได้ 2,000-3,000 โรงงาน

นายทองพล กล่าวว่า ในการตั้งสถาบัน SIMTec บริษัทสุมิพล ไม่ได้หวังผลกำไรจากสถาบันแห่งนี้ เพราะได้ใช้เงินลงทุนตั้งสถาบันนี้ไปมาก เงินที่ได้จากการฝึกอบรมก็นำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนของสถาบัน และบุคลากรต่างๆ และยังได้ตั้งกฎเกณฑ์ที่สำคัญห้ามโฆษณาขายเครื่องจักรให้กับผู้ที่เข้ามาฝึกอบรมโดยเด็ดขาด ซึ่งหากบุคลากรของไทยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โรงงานต่างๆ จะลงทุนขยายธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมมายังบริษัท และอุตสาหกรรมเครื่องจักรทั้งหมดก็จะมียอดขายดีขึ้น

ลดภาระรัฐสร้างบุคลากร

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในการยกระดับการผลิตของไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่มีเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เป็นหลักในการเดินหน้าสู่อนาคตนั้น ไม่อาจประสบความสำเร็จได้จากเพียงการดำเนินการของภาครัฐฝ่ายเดียว แต่หากยังต้องอาศัยพลังความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกฝ่ายในรูปแบบกลไกของประชารัฐ ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ซึ่งสถาบัน SIMTec ก็ได้เดินมาในแนวทางนี้

“สถาบัน SIMTec มีความเทียบเท่าหรือเหนือกว่าศูนย์ไอทีซี กล้วยน้ำไทย ซึ่งจะช่วยภาครัฐแบ่งเบาภาระในการพัฒนาบุคลากรไปได้มาก โดยกรมฯจะหาแนวทางในการจัดหางบประมาณมาสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันนี้ เพราะภาครัฐไม่สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว จึงต้องสนับสนุนเอกชนให้โครงการนี้ก้าหน้าอย่างรวดเร็ว”