เอสเอ็มอีแบงก์จับมือก.อุตสาหกรรมเปิดงานนวัตกรรม หนุนเอสเอ็มอีใช้ต่อยอดทำธุรกิจ

เอสเอ็มอีแบงก์จับมือก.อุตสาหกรรมเปิดงานนวัตกรรม หนุนเอสเอ็มอีใช้ต่อยอดทำธุรกิจ

กระทรวงอุตสาหกรรม ม.อ. และ SME D Bank ร่วมขับเคลื่อนงาน INNOVATION BAZZAR ปลุกฝันนวัตกรรมไทยก้าวไกลสู่อนาคต โชว์ผลวิจัย-นวัตกรรมใหม่ พร้อมดอกเบี้ยต่ำจากเอสเอ็มอีแบงก์ หวังช่วยเอสเอ็มอีใช้ต่อยอดธุรกิจ

     นายวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ได้มีพิธีเปิดโครงการ“INNOVATION BAZZAR” ติดปีกธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

   โดยงานจัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมผลงานการวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันและส่งเสริมให้ต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นสินค้าหรือบริการและเป็นการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุค 4.0 ที่จะต้องนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้เชิงธุรกิจเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่ความยั่งยืน และการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป

    โดยมีนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ม.อ และนายวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ SME D Bank พร้อมหน่วยงานพันธมิตร ผู้บริหารภาคอุตสาหกรรรม นักวิจัยจาก ม.อ. และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 300 คน ซึ่งงานจัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่ SME D Bank

     สำหรับงาน INNOVATION BAZZAR นับเป็นมหกรรมรวบรวมผลงานนวัตกรรม 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต กว่า 50 ชิ้นงาน ครอบคลุมผลงานวิจัย คือ 1.ด้านการแพทย์ (Medical Hub) 2.ด้าน IOT & Digital
3.ด้านอาหารเพื่ออนาคต (Food / Feed for Future) 4.ด้านพลังงาน (Energy) และ 5.ด้านเกษตรและประมง (Agriculture / Fishery) โดยผลงานที่นำมาแสดงมีความโดดเด่นและมีโอกาสต่อยอดจากงานวิจัยสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ เสมือนสร้างถนนเชื่อมระหว่างผู้ซื้อและนักวิจัยเจ้าของนวัตกรรมให้ได้มาพบกัน นำสู่การเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ต่อไป

      นายวรมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นครั้งแรกนำผลงานนวัตกรรมจาก ม.อ.จัดครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ โดยรวบรวมครบกิจกรรม 3 ด้าน คือ 1.การบรรยายจากวิทยากรชั้นแนวหน้าของเมืองไทย อาทิ ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ม.อ. หัวข้อ “บทบาทและนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับการพัฒนาภาคเอกชน”                  

      ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาภาคเอกชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์” พร้อมตัวอย่างธุรกิจที่นำนวัตกรรมไปต่อยอดเกิดมูลค่าเพิ่มจนประสบความสำเร็จ โดยนายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด บรรยายในหัวข้อ       “นมโพรไบโอติกส์ Dairy Home จากผลงานวิจัยสู่ธุรกิจมีราคาสูง” และบรรยายพิเศษจาก SME D Bank ในหัวข้อ นโยบายด้านเงินทุนในการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม

     ส่วนที่ 2 คือ “ค้นหาไอเดีย” รวบรวม 50 ผลงานนวัตกรรมจาก 5 คลัสเตอร์ คือ กลุ่ม Medical Hub จัดแสดงชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม, โครงสร้างโพลิเมอร์สามมิติชนิดสลายตัวได้ใช้ทางทันตกรรม, แผ่นมาร์คหน้าและแผ่นแปะสิวจากใบบัวบกและว่านหางจระเข้, ไบโอแคลเซียมจากกระดูกปลาทูน่า เป็นต้น, กลุ่ม IOT และ Digital รวบรวมผลงานวิจัยที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของคุณง่ายขึ้น อาทิ ระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม (Smart Environment), ระบบวัดปริมาณน้ำฝนและคุณภาพน้ำผ่านระบบ Smart Farm หรือ การทำเกษตรอัจฉริยะ, Smart Lighting จากอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเพื่อประหยัดพลังงาน เป็นต้น

     กลุ่ม Food /Feed for Future รวบรวมผลงานวิจัย อาทิ อาหารเสริมโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคไต,ผลิตภัณฑ์จากน้ำผลไม้แช่อิ่ม, ชุดตรวจวัดฟอร์มาลีนในอาหาร, ผงลาบน้ำตกเสริมกาบา, กลุ่ม Energy อาทิ ผลงานวิจัยกังหันลมแนวแกนตั้ง แผงรับแสงอาทิตย์แบบรางสะท้อนแสง วงจรพิโซอิเล็กทริกสำหรับการเก็บพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น และ กลุ่ม Agriculture/ Fishery แสดงผลงานวิจัยการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการชีวภาพ, ชุดทดสอบสังกะสีในดิน, โฟมยางล่อแมลง, น้ำตาลคิวบราซิทอลจากซีรั่มน้ำยางพารา และแผ่นกาวจากยางพาราต้านจุลินทรีย์ เป็นต้น

      ส่วนที่ 3 ช่วงเจรจาธุรกิจ (Business Matching) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือภาคอุตสาหกรรมที่สนใจในแต่ละผลงานเจรจาต่อราย พร้อมรับสิทธิประโยชน์พิเศษที่จะทำผลงานวิจัยไปทดสอบตลาดได้ฟรี อีกทั้ง มีบริการปรึกษาแนะนำสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจาก SME D Bank อาทิ สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน      

       สำหรับผู้ต้องการลงทุนในธุรกิจเกษตรแปรรูป ผู้ประกอบการใหม่หรือมีนวัตกรรม ธุรกิจผลิต บริการอื่นๆ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าปลีก ค้าส่ง และอาชีพอิสระ โดยบุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยพิเศษเฉลี่ยปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.25% ต่อเดือน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ลงทุน ขยายและปรุงปรุงกิจการต่อไปด้วย