ลุ้นรอบ2ศึกชิงเก้าอี้นายกฯอังกฤษ

ลุ้นรอบ2ศึกชิงเก้าอี้นายกฯอังกฤษ

สมาชิกสภาสามัญชนสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 313 คนลงคะแนนเสียงรอบแรกเมื่อวันศุกร์ (14มิ.ย.) เพื่อสรรหาผู้ที่จะมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ ซึ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษโดยอัตโนมัติ

ผลการลงคะแนนปรากฎว่า ในบรรดารายชื่อผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จำนวน 10 คน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งเป็นตัวเก็ง สามารถครองอันดับ 1 โดยได้คะแนน 114 เสียง ทิ้งห่างนายเจเรมี ฮันท์ อันดับ 2 ซึ่งได้ 43 เสียง ส่วนนายไมเคิล โกฟ อันดับ 3 ได้ 37 เสียง ขณะที่นางแอนเดรีย ลีดซัม นางเอสเธอร์ แมควีย์ และนายมาร์ค ฮาร์เปอร์ ไม่สามารถผ่านเข้าสู่การลงคะแนนเสียงในรอบที่ 2 เนื่องจากแต่ละคนได้รับคะแนนเสียงในวันนี้ต่ำกว่า 17 เสียงที่กำหนดไว้

การลงคะแนนเสียงในรอบที่ 2 สำหรับผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จำนวน 7 คนที่เหลือ จะมีขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย.โดยผู้สมัครจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 33 เสียง จึงจะผ่านเข้าสู่การลงคะแนนเสียงในรอบต่อไป และหากผู้สมัครทุกรายมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 33 เสียง ผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงน้อยที่สุดจะถูกคัดออก

จากนั้น วันที่ 19-20 มิ.ย.สมาชิกสภาสามัญชนสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมทำการลงคะแนนเสียงรอบสุดท้าย โดยผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงน้อยที่สุดจะถูกคัดออกในแต่ละรอบ จนเหลือผู้สมัคร 2 รายสุดท้ายที่จะเข้าสู่การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวน 160,000 คน

วันที่ 22 มิ.ย.ผู้สมัคร 2 รายสุดท้ายแสดงวิสัยทัศน์ต่อสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศ และวันที่22 ก.ค.ผู้สมัคร 1 ใน 2 รายที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศ จะได้รับการประกาศเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษ

และนี่คือรายละเอียดของผู้ที่เสนอตัวจะมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จำนวน 7 คน ที่สามารถผ่านเข้าสู่การลงคะแนนในรอบที่ 2 พร้อมกับจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายเบร็กซิท

 1. บอริส จอห์นสันถือเป็นตัวเก็งอันดับ 1 สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยราคาต่อรองในสำนักพนันที่ถูกกฎหมายในอังกฤษต่างบ่งชี้ว่า นายจอห์นสันจะเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่แทนนางเมย์ และถือเป็นผู้รณรงค์คนสำคัญให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ในการลงประชามติในปี 2559

เมื่อไม่นานมานี้ นายจอห์นสันกล่าวว่า อังกฤษจะต้องแยกตัวออกจากอียูในวันที่ 31 ต.ค.ไม่ว่าจะมีการทำข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม

2. ไมเคิล โกฟ ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดคนหนึ่งในการรณรงค์สนับสนุนการแยกตัวของอังกฤษออกจากอียูในการทำประชามติในปี 2559และเป็นผู้สนับสนุนนโยบายเบร็กซิทของนางเมย์

นายโกฟปฏิเสธการทำประชามติเบร็กซิทเป็นครั้งที่ 2 และกล่าวว่า เขาจะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูในรูปแบบของแคนาดา

3.เจเรมี ฮันท์เคยเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับอียูและขณะนี้ เขาพอใจที่อังกฤษจะออกจากอียูโดยมีข้อตกลง แต่เขาก็เชื่อว่าการออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง ดีกว่าการที่ไม่ได้แยกตัวออกจากอียู

4. โดมินิค ร้าบเป็นผู้รณรงค์สนับสนุนการแยกตัวของอังกฤษออกจากอียูและสนับสนุนให้มีการเจรจากับอียูเพื่อให้มีการทำข้อตกลงที่เป็นธรรมกับอังกฤษ รวมทั้งรื้อการเจรจาในประเด็นศุลกากร และชายแดนไอร์แลนด์เหนือ

 5. รอรี สจ๊วตอดีตนักการทูตที่เคยเดินทางระยะทาง 6,000 ไมล์ในอิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย และเนปาล และขณะนี้เป็นรัฐมนตรีฝ่ายพัฒนาระหว่างประเทศมีจุดยืนในการสนับสนุนให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับอียู และคัดค้านการแยกตัวจากอียูโดยไม่มีการทำข้อตกลง

6. ซาจิด จาวิด อดีตนายธนาคาร และเป็นผู้สนับสนุนระบอบตลาดเสรีสนับสนุนให้อังกฤษยังคงรวมตัวอยู่กับอียูแม้ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยต่อต้านอียูก็ตาม

7. แมทท์ แฮนค็อกอดีตนักวิเคราะห์ของธนาคารกลางอังกฤษ มีจุดยืนสนับสนุนให้อังกฤษรวมตัวกับอียู