ไทยถกอียูรับมือกีดกันการค้า

ไทยถกอียูรับมือกีดกันการค้า

ไทยถกอียู ใช้เวทีประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน ครั้งที่ 14 หารือแนวทางรับมือมาตรการกีดกันทางการค้า พร้อมเร่งปฏิรูปการทำงานของ WTO และผลักดันการเจรจาที่ค้างอยู่ให้คืบหน้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทยสหภาพยุโรป(อียู) ครั้งที่ 14 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ว่า การประชุมครั้งนี้ไทยและอียูได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าฝ่ายเดียวมาใช้เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เกิดการตอบโต้ทางการค้าที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก(WTO) ไทยและอียูจึงควรร่วมมือกันปฏิรูปการทำงานของ WTOเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในระบบการค้าพหุภาคีโดยมีประเด็นเร่งด่วนคือการเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทน 6 ใน7 ตำแหน่งที่จะว่างลงในปลายปีนี้ ก่อนที่กระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ WTO จะหยุดชะงักลงรวมถึงการปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาทและการผลักดันให้การเจรจาในเรื่องที่ค้างอยู่มีความคืบหน้าและหาข้อสรุปได้ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีWTO เช่น การจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์การจัดทำความตกลงการอุดหนุนประมง เป็นต้น 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนความคืบหน้าเรื่องการเจรจาเอฟทีเอที่แต่ละฝ่ายจัดทำกับประเทศอื่นโดยเฉพาะความคืบหน้าการเจรจาเบร็กซิทกับสหราชอาณาจักร สำหรับการสานต่อการเจรจาเอฟทีเอกับไทยซึ่งอียูจะต้องรอนโยบายของรัฐสภาชุดใหม่โดยไทยเองก็ต้องรอนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน ทั้งนี้อียูให้ความสนใจความคืบหน้าการทำงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนรวมถึงแสดงชื่นชมที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนสามารถผลักดันให้การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนมีความคืบหน้าได้หลายเรื่อง 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังได้ใช้โอกาสนี้แจ้งให้อียูทราบถึงความคืบหน้าของไทยเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการออกกฎหมายและกฎระเบียบทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าของผู้ประกอบการ เช่นการปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายศุลกากร กฎหมายดิจิทัลและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยในปีนี้ดีขึ้นจากปีก่อนถึง 5 อันดับพร้อมทั้งแจ้งให้อียูทราบถึงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ 12สาขา โดยเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเชิญชวนให้อียูเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นซึ่งฝ่ายอียูเห็นว่าข้อมูลความคืบหน้าด้านนโยบายและการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าของไทยเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง