จากแดนไกล : คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัยแบรนด์ Wisharawish

จากแดนไกล : คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัยแบรนด์ Wisharawish

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Wisharawish ทำงานร่วมกับ 7 ชุมชนผ้าทอไทย ต่อยอด ‘ผ้าทอผืน’ โดยนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นแฟชั่นร่วมสมัยในคอลเลคชั่นชื่อ ‘จากแดนไกล’ พร้อมมอบแพทเทิร์นให้แต่ละชุมชนไว้ตัดเย็บเพื่อการจำหน่ายโดยตรง

จากแดนไกล เป็นชื่อผลงานคอลเลคชั่นล่าสุดของแบรนด์ไทยดีไซเนอร์ Wisharawish (วิชระวิชญ์) ออกแบบโดย อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์

ความน่าสนใจของคอลเลคชั่นนี้อยู่ที่การนำ ผ้าไทย มาต่อยอดด้วยการออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายที่มี ‘ความร่วมสมัย’ คือแพทเทิร์นที่ดูสบาย เน้นความเรียบง่าย สวมใส่ได้หลายโอกาส เพื่อให้ผ้าไทยไม่เป็นเพียงมรดกล้ำค่าที่เก็บไว้ในตู้

วิชระวิชญ์เลือกใช้ ผ้าไทย 7 ชนิด จาก 7 ชุมชนทอผ้าในประเทศไทย แต่ละชุมชนต่างมีผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากภูมิปัญญาการทอผ้าที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวเขาเองได้เดินทางลงพื้นที่ร่วมแลกแปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานร่วมกับชุมชนทอผ้าทั้ง 7 แห่งอย่างใกล้ชิด ก่อนจะมาเป็นคอลเลคชั่น ‘จากแดนไกล’

ดีไซเนอร์อธิบาย ‘เอกลักษณ์ผ้าไทย’ ของชุมชนทอผ้าทั้ง 7 แห่ง โดยเริ่มจากเชียงใหม่ โรงทอผ้า Cotton Farm คลุกคลีอยู่ในวงการผ้าฝ้ายมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ว่า 

"เอกลักษณ์ของคอตตอนฟาร์ม คือผ้าฝ้ายทอมือเส้นบางเป็นพิเศษ เหมาะสมกับการสวมใส่ในภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ถ้ามองแรกเหมือนผ้าม้วนโรงงาน แต่ความจริงทุกอย่างทำมือหมด ตั้งแต่กระบวนการปั่นเส้นใย การทอมือ"

14. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก Cotton Farm จ.เชียงใหม่

ผ้าฝ้ายทอมือ โรงทอผ้า Cotton Farm เชียงใหม่

9. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก อิมปานิ จ.ราชบุรี

ราชบุรี โรงทอผ้าอิมปานิ ผ้าขาวม้า

ราชบุรี โรงทอผ้าอิมปานิ ผ้าขาวม้า มีวิธีทอผ้าขาวม้าให้เนื้อผ้ามีความนิ่มพอที่จะสวมใส่ได้สบายต่อผิวหนัง โดยไม่ต้องซักหลายๆ ครั้งจึงจะใส่สบาย

“ทำอย่างไรให้ผ้าขาวม้าดูทันสมัยมากขึ้น น่าใช้มากขึ้น จากรูปสี่เหลี่ยมเบสิกทั่วไปเอามาตัดแล้วจะดูเป็นผ้าปูโต๊ะ ก็พยายามแบ่งจังหวะ ใช้วิธีการทอ เปลี่ยนคู่สีใหม่ๆ ทำสิ่งที่เขาคิดว่าจะขายไม่ได้...ให้ขายได้ เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ของผ้าขาวม้ามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องตารางชนตารางเสมอไป เช่น การทำสีโทนออนโทน ขาวบนขาว โทนสีน้ำเงิน โดยสีไม่จำเป็นต้องตัดกัน หรือโทนสีน้ำตาล ซึ่งคนผิวขาวผิวคล้ำก็ใส่ได้ ไปอยู่ตลาดสากลก็ดูไม่รู้ว่าเป็นผ้าขาวม้า” วิชระวิชญ์เล่าถึงแนวคิดที่ทำงานร่วมกับโรงทอผ้าอิมปานิ

12. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก ผ้าไหมมัดหมี่ by นิดดา จ.ขอนแก่น

ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย ขอนแก่น

ขอนแก่น ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย  (อ.ชนบท) ที่่ผ่านมาหากต้องการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายประสานกัน 8 สี ต้องใช้เวลา 8 วันในการย้อมเรียงแต่ละสี เมื่อใช้เวลาผลิตยาวนาน ราคาผ้าไหมมัดหมี่จึงสูงเกินกว่าจะขายให้บุคคลทั่วไป กลุ่มสตรีฯ จึงหาวิธีลดระยะเวลาผลิต จนเกิดเป็นการทำ ‘ไหมแต้มหมี่’ ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและชุมชน 

“กรรมวิธี ‘ไหมแต้มหมี่’ ทำให้เกิดลวดลายขนาดใหญ่ ไม่ละเอียดเท่าการทอไหมมัดหมี่ แต่กลับเป็นความสวยงามที่เข้ากับยุคสมัย เป็นลายกราฟิก สามารถลดทอนความรู้สึกหนักและทึบตันของการทอผ้าไหมมัดหมี่ลงได้เป็นอย่างดี นอกจากมัดหมี่ เรายังไปเพ้นต์บนกี่ก่อนทอ ช่วยลดระยะเวลาการมัด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำ”

11. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข จ.ขอนแก่น

 ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข ขอนแก่น

ขอนแก่น ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข ผ่านการคัดสรรคุณภาพว่าเป็นสินค้า OTOP ระดับห้าดาวและมีวิธีการผลิตคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติทั้งหมด เป็นสีกินได้จากดอกไม้-ผักในชุมชน ฟอกย้อมด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์แบบย้อมเย็น พร้อมกับสร้างลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ขึ้นใหม่จากความรักและเทิดทูนโครงการต่างๆ ที่ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พระราชทานให้กับชาวบ้าน อาทิ ‘ลายหยาดพิรุณ’ เสมือนสายฝนที่หล่นจากฟ้า

13. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก Jutatip จ.ขอนแก่น

ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้าย โรงทอผ้า Jutatip ขอนแก่น

ขอนแก่น โรงทอผ้า Jutatip (จุฑาทิพย์) นอกจากเป็นผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ยังมีวิธีการสร้างลวดลายที่เรียกว่า ‘เกาะล้วง’ เรียงเส้นใยผ้าทีละเส้นอย่างประณีตจนเกิดลวดลายที่แตกต่างไปในแต่ละส่วนของผืนผ้า

16. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก เรือนไหมใบหม่อน จ.สุรินทร์

ผ้าไหมยีนส์ เรือนไหมใบหม่อน สุรินทร์

สุรินทร์ เรือนไหมใบหม่อน ใช้องค์ความรู้แบบใหม่ในการทำผ้าไหม จนเกิดเป็น ‘ผ้าไหมยีนส์’ 

“ดูเหมือนยีนส์ แต่จริงๆ เป็นผ้าไหมไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซักเครื่องได้ ดูแลรักษาง่าย โดยเอาเปลือกไหมมาตีเกลียวแล้วทอ ผู้ประกอบการทำอยู่แล้ว แต่อู๋เข้าไปช่วยพัฒนาเท็กซ์เจอร์หรือใช้สีให้เพี้ยนไปจากยีนส์ เพื่อให้เกิดคำถามว่านั่นไม่ใช่ยีนส์ แต่ทอให้เหมือนยีนส์ เพราะไม่ได้ใช้คอตตอนหรือลินินใดๆ เลย เป็นผ้าไหมร้อยเปอร์เซ็นต์ เลยตั้งชื่อว่า ‘ผ้าไหมยีนส์’ แค่ ‘ดูเหมือน’ เฉยๆ” วิชระวิชญ์อธิบาย

10. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก บาติก เดอ นารา จ.ปัตตานี

18. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล โดยใช้ผ้าจาก บาติก เดอ นารา จ.ปัตตานี (1)

ผ้าบาติก เดอ นารา, ปัตตานี

ปัตตานี โรงทอผ้าบาติก เดอ นารา (Batik de Nara) 

"ปัตตานีเก่งเรื่องงานวาด ปกติผ้าบาติกเราเห็นลายกุ้งหอยปูปลาปะการัง ลวดลายที่เกิดจากวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่ที่นี่เน้นงานวาดเล็กๆ ยิบๆ ซึ่งอู๋บอกว่ามันถ่ายรูปแล้วไม่ขึ้นกล้อง คุณควรลองสเกลที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ถ่ายรูปออกมาแล้วสวย เพราะทุกวันนี้คนถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ปกติคนทำผ้าบาติก ทำลงบนผ้าฝ้าย แต่ครั้งนี้ทำบนผ้าไหมเนื้อบางที่มีความพลิ้ว"

วิชระวิชญ์ไม่ใช่เพิ่งทำงานกับผ้าไทยเป็นครั้งแรก แต่อยู่กับผ้าไทยมาตลอดชีวิต เขาเกิดที่บุรีรัมย์ เกิดมาก็มีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน เขามองว่า ‘ผ้าไทย’ มีส่วนผสมระหว่าง Complexity และ Simplicity

“คือมีความยาก-ความง่ายผสมกัน เรารู้สึกกระบวนการทำผ้าไทยยากเหลือเกิน การจะเข็นก็ยากเหลือเกิน ความจริงง่ายก็ได้นะ พยายามที่จะคลี่คลายโดยไม่เสียดีเอ็นเอผ้าไทยออกไป ทำอย่างไรให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่อู๋เองอยากทำ”

วิชระวิชญ์กล่าวถึงเคล็ดลับส่วนตัวในการออกแบบผ้าไทยของเขาว่า “งานดีไซน์ผ้าไทย ต้องลืมว่าคือผ้าไทย เพราะคนจะไปยึดติดว่าผ้าไทยต้องใส่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น มันก็จะกลายเป็นเสื้อมีโครงหรือสวมใส่ได้ยาก” และขยายความเพิ่มเติมว่า

“เวลาออกแบบ ก็คิดว่าคือวัสดุชนิดหนึ่ง เรารู้อยู่แล้วว่าคือผ้าไทย เวลาออกแบบก็สนุกกับมัน ทำชิ้นเบสิก เช่น ทำเสื้อเชิ้ต เพื่อให้ใช้ได้มากขึ้น ผ้าไทยแต่ละชุมชนมีคาแรคเตอร์ต่างกัน เราต้องฟังเขาให้เยอะว่าเขาต้องการอะไร บางทีเราเอาของเขามาแล้วเอาแต่ใจนักออกแบบเองไม่ได้ เช่นผ้าบาติก เขาอยากได้ชุดปล่อยๆ เบาๆ ใช้ผ้าให้คุ้มที่สุด เพราะกว่าจะได้ผ้ามาแต่ละคืบแต่เซ็นต์ใช้เวลาค่อนมาก”

คอลเลคชั่น ‘จากแดนไกล’ จึงประกอบไปด้วย เสื้อเชิ้ต กางเกงขาสั้น กางเกงขายาว ชุดกระโปรงยาว เสื้อเกาะอกตัวหลวม เสื้อคลุมยาว เทรนช์โค้ท รวมแล้ว 49 ชุด 

วิชระวิชญ์ไม่ได้เจาะจงให้ผู้แสดงแบบสวมเสื้อผ้าของชุมชนใดชุมชนหนึ่งทั้งตัว แต่นำเสื้อผ้าทั้ง 7 ชุมชนใส่สลับกันไปมา เช่น เสื้อผ้าขาวม้าใส่กับกระโปรงผ้าไหม เสื้อผ้าบาติกเจอกับกางเกงผ้าฝ้าย แสดงให้เห็นว่าผ้าไทยต่างประเภทก็ใส่ด้วยกันได้

3. วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข และผู้ประกอบการทั้ง 7 ชุมชน

ชระวิชญ์ อัครสันติสุข(กลาง) กับผู้ประกอบการทอผ้าไทย 7 ชุมชน

คอลเลคชั่น ‘จากแดนไกล’ คือผลงานภายใต้ โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล (Taproot Thai Textiles) ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนทางวัฒนธรรม เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวผ่านมิติ ‘ผ้าไทย’ รวมไปถึงส่งเสริม ‘ศิลปินพื้นบ้าน’ และ ‘เครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทอผ้าไทย’ ได้เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมบนรากฐานของวัฒนธรรมในชุมชนให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน 

อีกทั้งเป็นการนำ ‘ทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทย’ มาสร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 

นอกจากการพัฒนาชุมชน กลุ่มทอผ้า ให้เป็นต้นแบบในเรื่องการทอผ้าแล้ว ยังมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์ผลักดัน ‘นักออกแบบ’ และ ‘ผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทย’ ให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

จากข้อมูลในมือ ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม’ ตัดสินใจเลือก 7 ชุมชนทอผ้าไทย ซึ่งมองแล้วว่ามีศักยภาพหรือสามารถไปต่อได้ระดับสากล แต่ทำอย่างไรจะช่วยให้ชุมชนนำภูมิปัญญาที่มีอยู่มาต่อยอดโดยไม่ทำลายของเดิม ใช้แนวคิดใช้วิธีการผลิตอย่างเดิมที่ชุมชนมี แต่นำการออกแบบหรืออะไรที่เป็นรสนิยม-ความรู้สึกที่เป็นปัจจุบันเข้าไปผสมผสานกัน ออกมาเป็นของใหม่ๆ เข้ากับตลาดในวงกว้างได้ และเลือก วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข มาเป็นผู้ออกแบบ

"ผมใช้เวลาสี่เดือนทำคอลเลคชั่นนี้  แต่ผมทำงานกับชุมชนทอผ้าไทยกลุ่มนี้โดยรู้จักกันมาเจ็ด-แปดปี สิ่งที่ยากคือ ทำอย่างไรให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่จะประสบความสำเร็จได้" ดีไซเนอร์กล่าว

ความสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างแล้วเมื่อวิชระวิชญ์นำผ้าทอในคอลเลคชั่น ‘จากแดนไกล’ ไปทดลองโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น ผลปรากฎว่า โรงทอผ้าบาติก เดอ นารา ได้รับออร์เดอร์สั่งทำผ้าบาติกลายนี้เพื่อไปตัดเย็บเป็นกิโมโน และฝรั่งเศสสั่งไปตัดเย็บเป็นชุดใส่ตามรีสอร์ตเมืองชายทะเล

เสื้อผ้าทุกชิ้นในคอลเลคชั่น ‘จากแดนไกล’ หลังเปิดตัวบนรันเวย์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วิชระวิชญ์มอบแพทเทิร์นซึ่งตัดเย็บไม่ซับซ้อนให้กับชุมชนทอผ้าทั้ง 7 แห่ง

เพื่อให้แต่ละชุมชนเพิ่มมูลค่าผ้าผืนที่ทอได้เป็น ‘เสื้อผ้าสำเร็จรูป’ ที่มีดีไซน์ร่วมสมัย

21. ชุดในคอลเลกชั่น จากแดนไกล แบรนด์ WISHARAWISH

จากแดนไกล : คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัยแบรนด์ Wisharawish