ส่อง 7 เทรนด์แห่งอนาคต -ดีป้าเตรียมปั้นคนดิจิทัลรองรับตลาด

ส่อง 7 เทรนด์แห่งอนาคต -ดีป้าเตรียมปั้นคนดิจิทัลรองรับตลาด

การวางแผนให้ไทยสามารถไปสู่ดิจิทัล ไทยแลนด์ไปอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากจะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือการวางแผนด้านนโยบายและจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้มีสกิลที่ทัดเทียมกับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

นี่เป็นเหตุผลให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ ฟรอส์ท แอนด์ ซิลลิแวน ทำการศึกษาเพื่อคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศ เพื่อจะได้วางแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ 5 ปี ไปจนถึง 15 ปี

แนะ 4 เรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิแวน ก็เพื่อสะท้อนโอกาสและความเป็นไปได้ของการส่งเสริม พัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นดิจิทัล ไทยแลนด์อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเทรนด์เทคโนโลยีในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

นอกจากนี้ การศึกษายังได้เสนอแนะสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการโดยเร่งด่วน คือ1. เร่งพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจไทยในด้านดิจิทัลเทคโนโลยี 2. อุดช่องว่างเรื่องบุคลากรดิจิทัลที่ขาดแคลนด้วยการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงสถานกันการศึกษา เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญขนาดใหญ่สำหรับเทคโนโลยีใหม่ 3. เร่งตั้งศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ให้ประสบผลสำเร็จในระยะยาว และ 4. สร้างแพลตฟอร์มความรู้ควบคู่ไปกับความตระหนักผ่านงานประชุมสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กนำเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจในที่สุด

ไทยเดินมาถูกทางตาม7เทรนด์

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังได้เสนอแนะให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี ก้าวสู่เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน (Deep Technology) ยกระดับเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ของภูมิภาค คาดการณ์เทคโนโลยีของประเทศในระยะ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี พบว่า ประเทศไทยควรมุ่งเน้น 7 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) 2.ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 3.การวิเคราะห์ข้อมูล 4. 5จีแอพพลิเคชัน 5. บลอกเชน 6. ระบบอัตโนมัติ และ 7. การประมวลผลควอนตัม ซึ่งใน 5 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2563-2568 และ 10 ปี 15 ปี ประเทศไทยควรมุ่งเน้นใน 6 เรื่องแรกก่อน ส่วนเรื่องการประมวลผลควอนตัมเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึงในระยะ 5 ปี แรก แต่ในระยะ 10 และ 15 ปี เมื่อเข้าสู่ยุค 6จีจำเป็นต้องมุ่งเน้นด้วย

นายณัฐพล กล่าวว่า ผลสำรวจที่ได้ เป็นการตอกย้ำว่าแผนการเดินหน้าพัฒนาประเทศของดีป้าเดินมาถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสถาบันไอโอที ,สถาบันเอไอ และ สถาบันบิ๊ก ดาต้า ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากเทรนด์เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดคือ การขาดแคลนบุคคลากรเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจุบันพบว่าแม้ว่าจะมีคนที่จบการศึกษาในภาควิชาเทคโนโลยีและสาขาที่เกี่ยวข้องปีละ 20,000 คนก็จริง แต่กลับเข้ามาทำงาอยู่ในสายเพียง 13,000 คน ขณะที่อุตสาหกรรมเอง ต้องการอยู่ที่ปีละ 40,000 คน

“บทบาทหน้าที่ของดีป้าที่สำคัญคือการพัฒนากำลังคน ซึ่งดีป้าได้เสนอแผนในการสร้างคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ตนเองจึงจะนำเรื่องนี้เสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อให้ทำงานอย่างต่อเนื่องและเริ่มได้ภายในปีนี้ ตั้งเป้าปีละ 40,000 คน ภายใน 2 ปี”

พร้อมดึงยักษ์ไอทีช่วยพัฒนาคน

สำหรับแผนการทำงาน ดีป้าได้เจรจากับภาคเอกชน เช่น ไมโครซอฟท์ กูเกิล หัวเว่ย และซิสโก้ แล้ว ในการรวบรวมหลักสูตรที่แต่ละบริษัทมีมาสรุปเป็น 84 หลักสูตร จากนั้นจะเจรจาร่วมกับสถาบันการศึกษาในการนำหลักสูตรไปสอน โดยบุคลากรจาก บริษัทเอกชน ต่างประเทศ และ อาจารย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาแล้ว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเรียนและนำไปวุฒิบัตรรับรองการศึกษาไปสมัครงานกับเอกชนที่ขาดแคลนแรงงานได้

ทั้งนี้บุคลากรที่ได้ จะมาจาก 3 ส่วน คือ 1.การอัพสกิล จากคนทำงานอยู่ก่อนแล้ว ให้มีทักษะเพิ่มเติมและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท โดยบริษัทที่ส่งบุคลากรของตนเองมาอบรมจะต้องได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้น 2. การ รี สกิล สำหรับนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ให้มีความรู้พื้นฐานใกล้เคียง และต้องการเพิ่มทักษะให้ตรงกับตลาดแรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนเพิ่มจากหลักสูตรเดิม และ 3. นิว สกิล คือการสร้างนักศึกษาให้เรียนในสายที่ขาดแคลนตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งรัฐบาลต้องมีส่วนในการสนับสนุนเงินทุนร่วมกับเอกชนด้วย