นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บิดาแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บิดาแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผมไม่ทราบว่า จะต้องมีกระบวนการอย่างไรในสังคมไทยที่จะประกาศยกย่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าเป็นบิดาเรื่องใดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย และไม่คิดว่ากระบวนการเหล่านั้นจะมีความจำเป็นสำหรับผม ในการที่จะประกาศในใจของตัวเองและบอกต่อสังคมไทยว่า

ผมเห็นว่าคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือ "บิดาแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย"

        ในสมัยก่อนปี พ.ศ.2518 ประชาชนคนไทยเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย และเข้ารับการรักษาพยาบาล แม้ในสถานพยาบาลของรัฐ ก็จะต้องจ่ายเงินค่ารักษาและค่ายา คนยากจนจำนวนมากจึงไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและยาที่จำเป็น หรือหากตัดสินใจเข้ารับบริการ ก็ต้องกู้หนี้ ยืมสิน บ้างต้องขายวัว ขายควาย ซึ่งเป็นเครื่องมือทำกิน บ้างต้องเอาที่นาไปจำนำจนในที่สุดก็ตกเป็นเจ้าของหนี้ บ้างต้องขายกระทั่งลูกสาว เพื่อหาเงินมารักษาพยาบาล คนไทยจำนวนมากประสบภาวะล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความเจ็บป่วย

        ภายหลังการคเลื่อนไหวใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการ จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และได้มีรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ที่มีหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์  ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เริ่มต้นนโยบายการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนยากจน เรียกกันว่านโยบาล "รักษาพยาบาลฟรี" แต่นโยบายดังกล่าวก็ดำเนินการสำหรับคนจนเท่านั้น และในระยะแรก การที่จะบอกว่าใครเป็นคนจน ก็อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าสถานพยาบาลในทางปฏิบัติ สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งก็ยังคงเรียกเก็บเงินจากประชาชนทุกคน ถ้าผู้ป่วยรายใดไม่มีเงินจ่ายค่าบริการและค่ายาก็มักจะให้จดบัญชีเป็นหนี้สถานพยาบาลเอาไว้ คนยากคนจนมักจะเป็นคนซื่อ ก็จะพยายามทุกวิถีทางในการที่จะหาเงินมาใช้หนี้สถานพยาบาล ดังนั้นแม้จะดีขึ้นบ้างแต่ผลก็ยังต่างจากการไม่มีนโยบายไม่มากนัก

        จนกระทั่งถึง พ.ศ.2524 จึงได้มีการสร้างระบบการตรวจสอบรายได้ และมีการออกบัตรให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อการรักษาพยาบาลขึ้น ผู้ที่มีบัตรดังกล่าวที่เรียกกันว่า บัตร สปน. ก็สามารถไปรับบริการสุขภาพ ณ สถานพยาบาลระดับต้นที่กำหนดเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น อำนาจในการพิจารณาระดับรายได้หรือความสามารถในการจ่ายค่าบริการสุขภาพ จึงเปลี่ยนมือจากหัวหน้าสถานพยาบาล ไปอยู่ในมือของผู้ปกครองในระดับท้องถิ่น ได้แก่กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน แต่จากการสำรวจในปี พ.ศ.2543 พบว่ากว่าร้อยละ 50 ของคนจนที่ควรจะมีสิทธิ์กลับไม่ได้รับบัตร สปน. และถูกเรียกเก็บค่าบริการสุขภาพ และมีคนไม่จนจำนวนมาก กลับได้รับบัตร และไม่ต้องเสียค่าบริการสุขภาพ หรือที่เรียกกันว่าพวก "คนอยากจน" ปัญหาเรื่องคนจน หรือแม้แต่คนที่พอมีพอกิน ต้องประสบกับภาวะ "ล้มละลาย" จากภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย จึงยังคงอยู่ และมีทีท่าจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลและค่ายาที่แพงมากขึ้นด้วย

        นอกจากนี้ยังพบปัญหาของระบบบริการสุขภาพที่สำคัญอีกสองประการคือ ประการแรกค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพก็กำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการใช้บริการในสถานบริการระดับสูงที่มีต้นทุนสูง และมีการใช้ยาและเทคโนโลยีที่เกินความเหมาะสมจำนวนมาก และประการที่สองทรัพยากรสุขภาพทั้งสถานพยาบาล เตียง และบุคลากรมีการกระจายที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก เช่น กทม. มีความหนาแน่นของแพทย์มากกว่าภาคอีสานโดยเฉลี่ยกว่าสิบเท่า

        คุณหมอสงวน เป็นแพทย์ชนบทที่เติบโตมาจากการเป็นผู้นำนักศึกษาในยุคสิบสี่ตุลาคม 2516 และยุค 6 ตุลาคม 2519 ได้พัฒนาและหล่อหลอมจิตวิญญาณที่จะต้องทำประโยชน์ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และสร้างความเสมอภาคในสังคมไทยให้เกิดขึ้นให้ได้

        การทำงานในชนบท ทั้งที่โรงพยาบาลราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้เพิ่มประสบการณ์และความมั่นใจในการดำเนินการตามจิตวิญญาณที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาได้เป็นอย่างดี

        จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่คุณหมอสงวนได้เริ่มงานเพื่อคนด้อยโอกาสมากมายตั้งแต่ยังทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอ เช่น การจัดระบบการฟื้นฟูทางการแพทย์ให้แก่ผู้พิการที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ เป็นต้น แต่งานที่สำคัญที่สุดที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหมอสงวน มุ่งมั่นกับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกเหนือจากจิตวิญญาณดังกล่าวแล้ว ก็คือการได้เข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องการให้คนไทยทุกคนบรรลุเกณฑ์ "ความจำเป็นพื้นฐาน" หรือที่เรียกย่อๆว่าเกณฑ์ จปฐ" ที่นำโดยอาจารย์ น.พ.อมร  นนทสุต และ น.พ.ไพจิตร ปวะบุตร ในรัฐบาลยุค "ป๋าเปรม" ซึ่งเป็นยุคสาธารณสุขมูลฐานเฟื่องฟู และไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

        ที่นำเรื่องเดิมมาเล่าก็เพื่อปูพื้นให้ทราบความเป็นมา และเบื้องหลังของความพยายามของคุณหมอสงวนในการ "ทำทุกอย่าง" เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนไทย

        เมื่อตัดสินใจเข้ามาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขในส่วนกลาง คุณหมอสงวน ได้ดำเนินการทุกประการที่ทำได้ เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงิน การที่จะทำดังกล่าวได้ไม่ใช่แค่ให้มีนโยบายหลักประกันในการจ่ายค่าบริการสุขภาพเท่านั้น แต่จะต้องมีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ให้เกิดความเสมอภาค มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพด้วย มิฉะนั้นก็จะเป็นการสร้างหลักประกันการไม่ต้องเสียค่าบริการ เพื่อได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ และไม่มีบริการที่กระจายทั่วถึงทั้งประเทศ

        ผลงานต่อไปนี้คือผลงานสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการมีและการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน ผมขอสรุปผลงานที่คุณหมอสงวนได้เป็นผู้นำให้เกิดขึ้น และมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนี้

  1. โครงการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ คุณหมอสงวนทราบดีว่า หากปล่อยให้ระบบบริการสุขภาพของไทย ยังพัฒนาไปในลักษณะที่มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลมากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งเทคโนโลยีราคาแพง และมีความไม่เสมอภาค การที่จะให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นไปได้ยาก เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงมากจนเศรษฐกิจของประเทศแบกรับไม่ได้ และแม้จะมีหลักประกันในด้านการจ่ายเงินค่าบริการแต่ก็ไม่มีบริการที่มีคุณภาพใกล้บ้าน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อยู่ดี คุณหมอสงวน จึงได้อาศัยความสัมพันธ์และทุนทางสังคมส่วนตัว ไปชักชวนองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ สถาบันการศึกษาในยุโรป ด้วยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป จัดตั้งโครงการปฏิรูประบบบริการสุขภาพขึ้น ในกระทรวงสาธารณสุข โดยทีแรกเริ่มที่โครงการอยุธยาก่อน

        โครงการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ได้สร้างองค์ความรู้ ต้นแบบและประสบการณ์ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับต้น ที่มีคุณภาพดี ต้นทุนไม่สูง และดำเนินการในลักษณะ "ใกล้บ้านใกล้ใจ" ให้เกิดขึ้น และยังได้ช่วยพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพขึ้นมา ทำให้ได้ข้อมูลและภูมิปัญญาที่จำเป็นในการที่จะใช้พัฒนาและบริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

        กล่าวได้ว่าโครงการปฏิรูประบบบริการสุขภาพที่คุณหมอสงวนได้สร้างขึ้นนี้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และต้นแบบ เพื่อการสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

  1. โครงการสร้างนักการสาธารณสุขระดับแนวหน้า ด้วยทุนทางสังคมส่วนตัว คุณหมอสงวน ได้มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ แพทย์ชนบทระดับแนวหน้า ได้มีความรู้และได้พัฒนาแนวคิดและหลักการในด้านการสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ โดยการขอทุนจากประเทศเบลเยี่ยม และสหภาพยุโรป เพื่อส่งแพทย์ชนบทไทย ไปศึกษาระดับปริญญาโทที่ยุโรป นับถึงปัจจุบันได้กว่า 40 คน ในตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าทุกคนล้วนเป็นระดับแนวหน้าของวงการสาธารณสุขในปัจจุบันทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น นายแพทย์ พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข นายแพทย์อำพล  จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นต้น

        โครงการนี้ นับเป็นการสร้างผู้นำด้านสาธารณสุข ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการปฏิรูประบบสุขภาพ และการพัฒนาและบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย

  1. การก่อกำเนิดสถาบันวิชาการและสถาบันทางสังคมด้านสาธารณสุข คุณหมอสงวนทราบดีว่า การจะดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จนั้น ลำพังเพียงการดำเนินการภายในกระทรวงสาธารณสุขจะไม่เพียงพอ และยังจะประสบกับข้อขัดข้องของระบบราชการด้วย จึงได้ริเริ่มในการก่อตั้งองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ขึ้นหลายองค์กร เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ และการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

        เริ่มตั้งแต่ การเป็นผู้นำในระยะแรกๆ ของขบวนการแพทย์ชนบท และเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท คนที่ 6 เป็นคนที่นำแพทย์ชนบทออกสู่เวทีโลกเป็นคนแรก เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิแพทย์ชนบท และเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางสังคมของแพทย์ชนบทมากที่สุดคนหนึ่ง

        คุณหมอสงวน เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ด้วยความร่วมมมือจากองค์การพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา มูลนิธินี้มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์การชุมชนและผู้นำชุมชน เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

        มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติที่มีทุนทางสังคมในด้านการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขเป็นอย่างสูง ก็ก่อตั้งโดยคุณหมอสงวน และเป็นมูลนิธิที่มีลักษณะเฉพาะคือ มีคำว่า "แห่งชาติ" อยู่ในชื่อมูลนิธิด้วย ซึ่งโดยปกติจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

        มูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ก็มีคุณหมอสงวน เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานมูลนิธิเป็นคนแรก

        สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรรัฐนอกระบบราชการแห่งแรกในระบบสาธารณสุข ก็จัดตั้งขึ้นจากความพยายามและการดำเนินการของคุณหมอสงวนกล่าวกันว่ากฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้รับการรับรองอย่างหวุดหวิดในการประชุมสภาสมัย รสช.

        บางคนอาจไม่ทราบว่า แม้แต่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เรียกกันติดปากว่า สสส.คุณหมอสงวนก็มีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้น ทั้งในลักษณะของพระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติ

        องค์การและสถาบันต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันการพัฒนาและการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพร้อมๆไปกับการปฏิรูประบบบริการสุขภาพถ้วย

  1. การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างระบบธรรมาภิบาลขึ้นในระบบบริการสาธารณสุขไทย

        ความโปร่งใสในระบบธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมหาศาล หากระบบธรรมาภิบาลมีปัญหาและมีความไม่โปร่งใส เงินที่ลงทุนไปจำนวนมหาศาลก็ไม่อาจเกิดประโยชน์ต่อคนไทยทั้งหมดได้อย่างเต็มที่ คุณหมอสงวนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในระดับแนวหน้า ในการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องระบบธรรมาภิบาลที่ดีไม่ว่าจะเป็นการนำผู้นำในสังคมที่มีบารมีเข้ามาเป็นกรรมการดูแลงบประมาณสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย เช่น คุณพงษ์ศักดิ์  พยัคฆวิเชียร อาจารย์ น.พ.บรรลุ  ศิริพานิช เป็นต้น ทำให้ผู้มีอำนาจที่หวังจะนำเงินดังกล่าวไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ไม่สามารถดำเนินการได้ ไปจนถึงเรื่องการเคลื่อนไหวในเรื่องทุจริตยา ของกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอสงวนก็อยู่ในแนวหน้าและเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว จนมีผลทำให้นักการเมืองติดคุกถึงสองคน และมีผู้ถูกลงโทษอีกหลายคน

  1. การเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน

        การขยายการประกันสุขภาพจากการครอบคลุมเฉพาะคนยากจน ซึ่งเกิดปัญหาในทางปฏิบัติดังกล่าวมาแล้ว นำไปสู่ความพยายามที่จะขยายการสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่คนไทยส่วนใหญ่หรือทุกคน ซึ่งคุณหมอสงวนเป็นบุคคลหลักที่ผลักดันความคืบหน้าในเรื่องนี้

        เริ่มตั้งแต่ความพยายามในการทำโครงการบัตรสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักประกันสุขภาพที่รัฐจัดให้แก่ผู้ที่ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีรายได้น้อย โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินบ้าง โครงการนี้ริเริ่มโดย อาจารย์อมร  นทสุข และมีคุณหมอสงวนเป็นทั้ง "มือ" และ "สมอง" ในการขับเคลื่อนให้คืบหน้าไป จนสามารถครอบคลุมประชากรได้ถึงกว่าร้อยละสามสิบ มากกว่าบัตร สปน.เสียอีก

        เมื่อมีการออก พรบ.ประกันสังคม และมีการให้หลักประกันสุขภาพแก่ผู้ประกันตน คุณหมอสงวนก็ร่วมกับคุณหมอวิชัย  โชควิวัฒน และคุณหมอวิโรจน์  ตั้งเจริญเสถียร เคลื่อนไหวผลักดันให้ระบบการจ่ายค่าบริการ เป็นระบบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่สามารถผลักดันเช่นนั้นได้ ก็อาศัยองค์ความรู้ที่สร้าง โดยองค์กรและบุคคลต่างๆที่คุณหมอสงวนได้ร่วมกันสร้างขึ้นมานั่นเอง หากปล่อยให้ระบบการจ่ายเงินเป็นแบบการเรียกเก็บตามบริการที่ให้เช่นเดียวกับระบบสวัสดิการข้าราชการแล้ว กองทุนประกันสังคมก็คงจะล้มละลายไปแล้ว หรือไม่ก็จะต้องมีข้อจำกัดในการใช้บริการมากมายซึ่งจะกระทบกับผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยมากที่สุด

        จนถึงรัฐบาลในช่วงหลัง รสช.คุณหมอสงวนเห็นว่าขณะนั้นหลักประกันสุขภาพได้ครอบคลุมประชากรกว่าสองในสามแล้ว น่าที่จะมีกฎหมายกำหนดให้มีหลักประกันสุขภาพให้ครบถ้วนแก่คนไทยทุกคน ตามที่ได้วาดฝันไว้จึงได้เคลื่อนไหวเสนอต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เสนอร่างกฎหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น จนได้ร่างกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่สภาหมดอายุลงเสียก่อน และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น จึงต้องชะลอเรื่องกฎหมายไว้ก่อน

        ครั้นเมื่อมีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี พ.ศ.2544 คุณหมอสงวนก็อาศัยโอกาสที่พรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคไทยรักไทย ต้องการพัฒนานโยบายใหม่ๆที่จะเกิดประโยชน์และโดนใจคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งความเชื่อมโยงกับแกนนำพรรคบางคน ที่เป็นผู้นำนักศึกษาตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516 นำเสนอเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับในทันที และในที่สุดก็กลายมาเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

  1. การสร้างกลไกที่ถาวรและยั่งยืนเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

        คุณหมอสงวนตระหนักดีว่า หากเป็นแค่เพียงนโยบายรัฐบาล ความยั่งยืนของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็อาจจะมีปัญหาในอนาคต จึงได้เคลื่อนไหวทั้งต่อพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาล และเคลื่อนไหวให้มีการลงชื่อโดยประชาชนไทยกว่าห้าหมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการดังกล่าวภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ผลจากการนี้ ทำให้องค์กรภาคประชาสังคม ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจนถึงปัจจุบันจนกล่าวได้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทยแล้ว

        การที่สังคมใดสังคมหนึ่งจะเกิดการเคลื่อนไหว จนไปถึง "จุดพลิกผัน" หรือที่ Malcolm Gladwell เรียกว่า "Tipping point" ได้นั้น เขาวิเคราะห์ไว้ว่า ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ ต้องมีคนสามประเภทอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวนั้น คนสามประเภทนี้ คือ คนพหูสูต (Mavens) คนที่เป็นนักเชื่อมโยง (Connector) และคนที่เป็นนักการขาย (Salesman) ถ้าเราวิเคราะห์บทบาทของคุณหมอสงวนในการเคลื่อนไหวสังคมไทย ไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว เราคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าคุณหมอสงวน  นิตยารัมภ์พงศ์ มีคุณสมบัติครบทั้งสามแบบ เรียกว่าเป็นทั้งสามแบบในคนเดียวกัน ซึ่งหาได้ยากเป็นอย่างยิ่ง

        ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าคุณหมอสงวน เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการคิดริเริ่ม พัฒนา และเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แบบ "กัดไม่ปล่อย" จนทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืนในสังคมไทยขึ้นมาได้

        ผมจึงไม่มีความลังเลใจ และใคร่ขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนคนไทยทุกคน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่ง ได้มาร่วมกันระลึกถึงคุณค่าต่อสังคมไทยที่คุณหมอสงวนได้สร้างขึ้นมา ในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อร่วมกันจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า คุณหมอสงวน  นิตยารัมภ์พงศ์ คือ

บิดาแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย