‘TTM+’ ฟุตเวิร์กเมืองรอง โชว์เคสทัวร์พลิกโลก

‘TTM+’ ฟุตเวิร์กเมืองรอง โชว์เคสทัวร์พลิกโลก

เปิดมิติท่องเที่ยวยั่งยืนถูกขับเคลื่อนผ่านดีมานด์และซัพพลายไซด์ โชว์เคส TTM+2019 ผู้ซื้อจากตลาดใหม่พบซัพพลายจากเมืองรองดาวรุ่ง ผ่านแพลตฟอร์มการเจรจามิติใหม่ Less for More ลด โลก เลิฟ ตัดทุกสิ่งที่เป็นขยะ เน้นขับเคลื่อนเจรจาธุรกิจท่องเที่ยวเปลี่ยนโลก

หลายปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวถูกมองเป็นผู้ร้ายเมื่อคนเดินทางรุกล้ำ ทำลายสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และชุมชน นี่จึงเป็นหนึ่งสาเหตุที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตัดสินใจปิดอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เป็นต้น

เช่นเดียวกันกับการ หันหัวเรือ” ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเมืองรอง 55 จังหวัด ให้นักท่องเที่ยวช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยผลักดันซัพพลายแหล่งท่องเที่ยว เชื่อมต่อกับสินค้าท้องถิ่นสู่ระดับโลก (Local to Global) รวมถึงพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

หนึ่งความพยายามการเตรียมความพร้อมสินค้าและบริการเที่ยวไทยสู่ระดับโกลบอล คือการจัดงาน“Thailand Travel Mart Plus 2019” (TTM+2019) ซึ่งปีนี้ได้พลิกการจัดงานให้เกิดความยั่งยืนเป็นรูปธรรม โดยเกิดการเชื่อมต่อผู้ประกอบการจากท้องถิ่น เมืองรอง 55 จังหวัด มาเปิดตัวสู่ระดับโกลบอล พบผู้ซื้อเอเยนซีระดับโลกที่เข้ามาทำตลาดในไทย

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงการจัดงานTTM+2019 ว่า ถือเป็นปีแรกที่เดินหน้าขยายตลาดการท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองอย่างชัดเจน โดยเปิดเวทีเจรจาธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B)พลิกตลาดนำผู้ขายเมืองรอง ที่เป็นกลุ่มชุมชนต้นแบบ (Showcase)ระดับท้องถิ่นที่ยังไม่เคยออกงานระดับโลกเช่นนี้มาออกงาน นำเสนอสินค้าที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของโปรดักท์แหล่งท่องเที่ยวในเมืองดาวรุ่ง ในธีม “New Shade of Emerging Destination”

โดยรวมทั้งงานเจรจาธุรกิจ จะมีกลุ่มผู้ประกอบการทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ขายกว่า 700 ราย ทั้งด้านซัพพลายและดีมานด์ไซด์ วางเป้าหมายสร้างรายได้การท่องเที่ยวขยายไปสู่เมืองรอง สัดส่วนจาก 30%เป็น 35%จากรายได้ทั้งหมดของการท่องเที่ยว แบ่งเป็นกลุ่มผู้ขายจาก 55 เมืองรอง หรือให้มองเป็นเมืองดาวรุ่ง ซึ่งในภาษาอังกฤษ จะไม่ใช้คำว่า Second-tier Cities แต่จะใช้ Emerging Cities ก้าวขึ้นมาทดลองเจรจาธุรกิจระดับโลกเป็นครั้งแรก 20 ราย จากผู้ขายรวม370ราย ซึ่งเป็นผู้ขายจากไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อ รวมทั้งสิ้น 351 ราย จาก 51ประเทศ ทั่วโลก ประกอบด้วย ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 38.75% ภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิก 27.07%ภูมิภาคเอเชียตะวันออก 22.51%และภูมิภาคอเมริกา 11.68% โดยมีกลุ่มผู้ซื้อมาจากตลาดใหม่ที่ยังไม่เคยมาร่วมงาน อาทิ คีร์กีซสถาน ลัตเวีย และเลบานอน ฯลฯ

โดยสถานที่จัดงานคือ โอเชี่ยนมารีน่ายอร์ชคลับ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-Eastern Economic Corridor) ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การลงทุน แต่เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมท่องเที่ยวให้สอดคล้องกันกับเทรนด์ ท่องเที่ยว พักผ่อน พร้อมกันกับทำงาน หรือ บลิเชอร์ (Bleisure-Business +Leisure)

“เป็นจังหวะที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ควบคู่กันกับมิติของการพัฒนาศักยภาพการลงทุน EEC รวมถึงการส่งเสริมการรีแบรนด์พัทยาใหม่ด้วยบรรยากาศสวยๆ ที่มีมุมมองหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแง่มุมเชิงลบ หรือ Dark side”

โดยวางเป้าหมายสร้างรายได้จากการเจรจาธุรกิจ 3 วัน ระหว่างวันที่ 5-7 มิ.ย. 2562 จะเกิดการสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท เติบโต 3% เมื่อเทียบปี 2560 ที่สร้างรายได้จากงาน 2,470 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 25%

ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่าถึงธีมการจัดงานTTM+2019มีการพลิกมิติของการจัดงานให้สอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวยั่งยืน โดยเน้นการบริหารจัดการเจรจาธุรกิจ ภายใต้รูปแบบ ทำน้อยแต่มาก Less for More

นโยบายให้ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือเฉพาะสิ่งที่จำเป็นที่สุด เน้นที่เกี่ยวข้องหัวใจหลักของการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว

พื้นที่เจรจาจึงเป็นเต็นท์โล่ง ไม่มีเสาตรงกลาง ติดแอร์ ไม่มีการตกแต่งบูทเจรจา มีเพียงการหิ้วแล็บท็อบตั้งโต๊ะเจรจาธุรกิจล้วนๆ โดยเต็นท์ตั้งอยู่ริมชายหาด ที่มีทางเลือกทางเจรจาริมชายหาด ใต้ต้นมะพร้าว หรือบนเรือยอร์ช เพื่อคลายเครียดจากบรรยากาศทางธุรกิจมาเป็นการเจรจาสบายๆ

“TTM+เป็นปีที่2 ที่ไม่มีการตกแต่งบูท เน้นเปิดโต๊ะเจรจาธุรกิจ เพียงหิ้วแล็บท็อบมาก็เจรจาปิดการซื้อขายได้ทันทีไม่มีการเต้นฟุตเวิร์กแล้ว ชกเลย การไม่ต้องตกแต่งบูท ดีตรงที่ไม่มีการติดตั้งรื้อถอน ทิ้งเป็นขยะ และไม่ต้องกังวลมาเร็วกว่ากำหนดเพื่อมาแต่งบูท ทุกอย่างล้วนเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งทดลองรูปแบบนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว การไม่มีบูทไม่ส่งผลต่อธุรกิจขายโปรแกรมได้” รองผู้ว่าเล่าคอนเซ็ปต์การจัดงานเจรจาธุรกิจแนวใหม่

สอดคล้องกันกับเทรนด์การรักษ์โลก และการท่องเที่ยวยั่งยืน นอกเหนือจากการตกแต่งบูทให้เรียบง่ายประหยัดงบแล้ว ภายในงานจะจัดภายใต้คอนเซ็ปต์ ลด โลก เลิฟ ไม่ให้มีขยะและพลาสติก โดยชูคอนเซ็ปต์ นำของใช้มาเอง Bring Your Own ไม่มีแจกถุงผ้า ป้ายชื่อ เอกสาร ทุกอย่างดาวน์โหลดออนไลน์ รณรงค์ให้นำกระติกน้ำมาเอง หากไม่มีจัดแก้วเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้

ที่สำคัญเสริมบรรยากาศสบายๆ ชิลๆ ด้วยการให้แต่งตัวเรียบง่ายและสบายๆ เหมือนเดินเล่นริมหาด ไม่ต้องแต่งสูท ผูกไทด์ ในธีม “Resort Attire” สีฟ้าขาว มีการจัดประกวดการแต่งกายเซลเลอร์แซ่บ สร้างสีสันให้ผู้เข้าร่วมงาน อาหารที่นำต้อนรับ ก็เน้นของเด็ดประจำท้องถิ่น อย่างเช่น หมูชะมวง, ข้าวผัดพริกเกลือ, แจงรอน, ขนมจีนน้ำยาปู

ศรีสุดา ยังให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงจากการขายท่องเที่ยวตลาดเก่าไปสู่ตลาดใหม่ที่คนไม่เคยรู้จักไม่ใช่เรื่องง่าย มีการออกโรดโชว์ไปกระตุ้นผู้ประกอบการเมืองรองกว่า 20 รายให้กล้าออกมาขาย จากชุมชน ระดับท้องถิ่น ให้รวมกลุ่มกันพัฒนาโปรดักท์ให้มาร่วมงานระดับโลกครั้งแรก เพื่อก้าวต่อไปสู่การโรดโชว์ในต่างประเทศในอนาคต และยังมีกลุ่มผู้ประกอบการจากจังหวัดเมืองรองอีก 70 รายที่เข้ามาร่วมงานเพื่อสังเกตการณ์ เพื่อขยายโอกาสในครั้งต่อไป เป็นการเตรียมพร้อมศักยภาพด้านซัพพลายไซด์

ก่อนเชิญมาออกบูทจึงต้องไปกระตุ้นแนะนำงาน จากชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่ไม่เคยรู้จักงานระดับโลกก็มาฝึกปรือวิทยายุทธ์การเจรจาการค้ากับต่างชาติในประเทศ เมื่อแกร่งแล้วจึงก้าวขึ้นไปโรดโชว์ในเวทีที่ระดับโลก

ที่สำคัญกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้ามาร่วมงานมุ่งเน้นให้โอกาสรายใหม่จากเมืองรอง เป็นหลัก โดยมีเงื่อนไขคือ 1.ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการจากเมืองท่องเที่ยวรอง และผู้ประกอบการน้องใหม่ไม่เคยร่วมขายในTTM+ 2.โรงแรม รีสอร์ทแต่ละแห่งต้องนำหลักฐานมาแสดงต่อคณะกรรมการถึงการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3.เปิดให้กลุ่มธุรกิจการจัดการแหล่งท่องเที่ยว DMC(Destination Management Company)เข้ามาร่วมเจรจาธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจโชว์ แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สปา และอื่นๆ4.ขยายโปรดักท์ใหม่ในEEC

ต้องการพัฒนาให้งานเป็นต้นแบบอีเวนท์การท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ลดปริมาณขยะทุกรูปแบบ ทั้งวัสดุอุปกรณ์ อาหาร เครื่องดื่ม ทำให้เป็นพื้นที่ปลอดขยะมากที่สุด (Zero Waste)”