สงครามการค้า เขย่าบัลลังก์ “กลุ่มยานยนต์” สะเทือน..!

สงครามการค้า เขย่าบัลลังก์ “กลุ่มยานยนต์” สะเทือน..!

แรงกระเพื่อมสงครามการค้า ทำเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอ ฉุดอุตฯยานยนต์ & ชิ้นส่วนฯ“ไม่สดใส” “บิ๊กเอกชน"ยอมรับดีมานด์หด “กูรู” วิพากษ์ไม่ถึงขั้น“ขาลง” แต่ต้องเร่งปรับตัว ก่อนสาย..!!

ทันที...!! ที่ สงครามการค้า” (Trade War) ระหว่างสหรัฐ-จีน ประทุเดือด อีกครา... ภายหลังสหรัฐ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% เป็น 25% เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา และสถานการณ์ยังส่อเค้ายืดเยื้อ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไร้ข้อสรุปในการเจรจาทั้งสองฝ่าย รวมทั้งการออกมาขู่ของประธานาธิบดีสหรัฐ ว่า จะขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีกประมาณ “3แสนล้านดอลลาร์

ประเด็นดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมทำให้ การค้าทั่วโลก ต้องสะดุด กระทบต่อเนื่องไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกต้องตกอยู่ในภาวะ ชะลอตัว” โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างกรณีของ “ไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มากถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

สอดคล้องกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2562 มีอัตราการขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 โดยยอมรับว่าภาคการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยได้ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน

ส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ลดลง 3.6% ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2561 การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ 2.3%

ล่าสุด สศช. ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือ 2.2% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 4.1% นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ สศช. ต้องปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 3.6% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4%

โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ ติดโผ” ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า นั่นคือ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์” เพราะเป็นธุรกิจที่มีส่วนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกรถยนต์ และยอดขายรถยนต์ภายในประเทศประจำเดือนเม.ย. 2562 ของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (ส.อ.ท.)  ระบุว่ารายงานยอดผลิตรถยนต์เดือนเม.ย. 2562 อยู่ที่ 150,242 คัน ลดลง 24% จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นตามปัจจัยฤดูกาลที่มีวันหยุดมาก แต่เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายในประเทศที่เพิ่มขึ้น 9% เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 86,076 คัน สะท้อนกำลังซื้อสินค้าคงทนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเป็นผลต่อเนื่องของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในหลายยี่ห้อ

ขณะที่ ยอดส่งออกรถยนต์ กลับทรุดหนัก 8% เทียบกับปีก่อน เหลือ 67,114 คัน ต่ำสุดในรอบ 7 ปี เพราะผลกระทบจากสงครามการค้า โดยมีเพียงออสเตรเลียที่กลับมาโตครั้งแรกในปีนี้ และตะวันออกกลางที่ความต้องการเริ่มฟื้น ตามรายได้ที่แปรผันในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน

โดยตัวเลขไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า ยอดผลิตรถยนต์ขยายตัวแค่ 4% โดยเป็นยอดขายในประเทศเติบโต 11% และยอดขายส่งออกเติบโต 1.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อนึ่ง ส.อ.ท. ยังเผยตัวเลขการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2561 อยู่ที่ 2.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 8.99% จากปี 2560 และนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 5 ปี พร้อมทั้งคาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ในปี 2562 ไว้ที่ 2.15 ล้านคัน ลดลง 0.82%” จากปีที่แล้ว เนื่องจากยังกังวลสงครามการค้าที่เริ่มมีผลกระทบในหลายประเทศ

หากดูผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนฯ ไตรมาส 1 ปี 2562 และ ไตรมาส 1 ปี 2561เติบโต ไม่สดใสนัก  อย่าง บมจ.อาปิโก ไฮเทค , บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า หรือ STANLY , บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี หรือ SAT และ บมจ. พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง หรือ PCSGH มีตัวเลขผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2562 และ ไตรมาส 1 ปี 2561 โดย AH อยู่ที่ 216.56 ล้านบาท และ 397.06 ล้านบาท , SAT อยู่ที่ 287.03 ล้านบาท และ 234.78 ล้านบาท , PCSGH อยู่ที่ 99.25 ล้านบาท และ 200.47 ล้านบาท เป็นต้น

เย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.อาปิโก ไฮเทค หรือ AH หนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่เป็นช่วง ขาลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยังมีอัตราการเติบโต แม้ว่าปีนี้ ส.อ.ท. ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ในปี 2562 ไว้ที่ 2.15 ล้านคัน !!

ทว่า ยอมรับว่า ประเด็นปัญหาจากการกีดกันทางการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน คงมีผลกระทบบ้าง เนื่องจากปริมาณการค้าทั่วโลก หดตัว อาจกระทบปริมาณการผลิตหรือยอดขายผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์บ้าง โดยลูกค้าบริษัท อาทิ อีซูซุ , นิสสัน , มาสด้า ที่เป็นลูกค้าของบริษัทยังเติบโตได้ดี จะมีลดลงก็ในตลาดของประเทศมาเลเซียที่แบรนด์ฮอนด้ามียอดขายลดลง

ขณะที่ในเมืองจีน ที่บริษัทเข้าไปตั้งโรงงานการผลิต บริษัทไม่ได้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จึงไม่กระทบ โดยเน้นผลิตเพื่อขายในจีนเป็นหลัก

ส่วนในประเทศเวียดนามที่บริษัทไปลงทุนใน บริษัท วินฟาสท์ เทรดดิ้ง แอนด์ โปรดักชั่น และถือลงทุนในสัดส่วน 51% นั้น ยอดขายค่อนข้างเติบโตได้ดี ในไตรมาส 1ปี 2562 มีรายได้เข้ามาแล้ว 200 ล้านบาท มองว่าในไตรมาส 2 ปี 2562 และไตรมาส 3 ปี 2562 น่าจะเติบโตได้ดีกว่าไตรมาส 1 ปี 2562 และคาดว่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่ 1,800 ล้านบาทในปีนี้

"ผลกระทบ Trade War เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่หลักน่าจะอยู่ที่จีน สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นโอกาส เพราะจีนอาจย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยเพื่อส่งออกไปที่สหรัฐแทน แต่สำหรับดีมานด์อาจมีผลกระทบ แต่ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ยังต้องรอดู เพราะหลังปัญหาเกิดขึ้นก็จะมีการปรับตัวและเข้าสู่ภาวะปกติได้ในระยะถัดไป"

ด้านผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยลง กำลังซื้อในบางกลุ่มที่ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อาจมีผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ของผู้ผลิตรถยนต์บางแบรนด์ โดยเฉพาะรถกระบะที่เป็นตลาดใหญ่ของบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เหล่านั้นเป็นลูกค้าหลักที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในการผลิตจากบริษัท แต่มองว่าผลกระทบคงไม่ได้รุนแรง เนื่องจากตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยยังเติบโตได้ดี

นายใหญ่ บมจ.อาปิโก ไฮเทค" ยังบอกต่อว่า สำหรับธุรกิจหลักของบริษัทใน 3 ส่วน คือ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีสัดส่วน 64% ธุรกิจจำหน่ายและบริหารยานยนต์สัดส่วน 36% และ IOT ซึ่งมีสัดส่วนต่ำกว่า 1% แต่อาจเป็นอีกธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัท 73% มาจากรายได้ในประเทศ นอกนั้นเป็นรายได้ในต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย จีน สหรัฐ เป็นต้น

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจครึ่งหลังปีนี้จะฟื้นดีขึ้น โดยคาดว่ารายได้ทั้งปี 2562 เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 10% จากปี 2561 ที่รายได้รวม 1.78 หมื่นล้านบาท จากรายได้ยอดขายทั้งในและต่างประเทศ โดยรายได้ในต่างประเทศปีนี้น่าจะมาจากเวียดนามที่เติบโตได้ โดดเด่น บวกกับการพัฒนาและปรับปรุงระบบการดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่าย รักษามาร์จิน

สำหรับในช่วงปลายปีนี้ในส่วนของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของบริษัทจะมี การรับคำสั่งซื้อ” (Order) เข้ามาจำนวน 1 โมเดล ซึ่งใน 1 โมเดลใหม่ จะมีอายุการใช้งานของรถยนต์เฉลี่ยที่ 10-14 ปีต่อรุ่น โดย Order ใหม่จะเริ่มรับรู้รายได้ได้ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป ขณะที่ตลาดในประเทศก็เติบโตได้ดีจากปริมารการผลิตรถยนต์ที่ยังสูง

ขณะที่ แนวโน้มการลงทุนใน SGAH ที่สหรัฐฯ ขณะนี้ยังมีปัญหา ขาดทุน อยู่ เนื่องจากสหรัฐ มีออเดอร์เข้ามามาก แต่การลงทุนของบริษัทยังน้อย ทำให้บริษัทยังต้องการเม็ดเงินเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าในไตรมาส 2 ปี 2562 ธุรกิจของบริษัทในสหรัฐฯ อาจจะยังขาดทุนอยู่ แต่เชื่อว่าจะขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 และมีผลการดำเนินที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง คาดหวังว่าจะสามารถถึง จุดคุ้มทุน ให้ได้ภายปี 2562

ทั้งนี้ บริษัทขยายการลงทุนด้วยการเข้าไปถือหุ้นใน SGAH สหรัฐ เมื่อปี 2560 ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นเริ่มต้นที่ 25% แต่ปัจจุบันถือลงทุนเพิ่มเป็น 49.99% ส่วนแนวโน้มในอนาคตจะลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นกับโอกาสในทางธุรกิจ

สำหรับงบการลงทุนในปี 2562 บริษัทจะเตรียมไว้รองรับการขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการร่วมทุนกับพันธมิตรขยายออกไปในตลาดต่างประเทศ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับ 0.8 เท่า โดยไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทออกหุ้นกู้แล้ว 500 ล้านบาท เป็นการออกเพื่อทดแทนชุดเดิมที่หมดอายุ

----------------------------------

โบรกฯ มองหุ้นยานยนต์ “ไร้เสน่ห์

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุน ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุนและปัจจัยทางเทคนิค บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง (BLS) เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่ถึงขั้น ขาลง” แม้ว่าหุ้นในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนฯ จะเป็นหุ้นกลุ่มที่ถูกปรับลดน้ำหนักในแง่ของ กำไร ลดลงในปี 2562-2563 มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เมื่อปีที่ผ่านมา พีค ไปแล้ว ดังนั้น ในปีนี้โอกาสที่จะเติบโตเท่าปีก่อนคงเป็นเรื่องยาก โดยคาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์จะเติบโต ลดลง จากปีก่อน โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ยิ่งมีประเด็นสงครามการค้าเข้ามาสนับสนุนด้วย และหากสงครามการค้ายืดเยื้อจะยิ่งฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ กำลังซื้อจะหดตัว ดังนั้น ยังไงยอดขายรถยนต์ก็ต้องลดลง

และอีกประเด็นที่มีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์คือ การเข้ามาของ รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว หากไม่ปรับตัวกำลังจะถูกดิสรัปในอนาคต   

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า มองกลุ่มยานยนต์จบรอบ ขาขึ้น ไปแล้วในปี 2561 แม้ว่ากำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวมีโอกาสหนุนยอดขายรถยนต์ในประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง แต่สำหรับยอดส่งออกรถยนต์คาดว่ายังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขณะที่กำลังการผลิตของทั้งกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มเต็ม ซึ่งการจะขยายหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิตจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็น EV

อีกทั้ง เรามองว่าโครงสร้างตลาดการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบดั้งเดิมกำลังเข้าสู่โหมดอุปทานส่วนเกิน ถ้าปริมาณการผลิตไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ ท่ามกลางราคาที่ถูกดดันจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ รายได้ของกลุ่มจะโตจำกัด และอัตรากำไรจะทรงตัวถึงอ่อนลง เมื่อผนวกกับ Valuation ที่ไม่ได้จูงใจให้ซื้อทันทีถ้าเทียบกับ PE Band ในอดีต

ดังนั้น จึงแนะนำ “Underweight” (ลดน้ำหนักการลงทุน) หุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และด้วย Market Cap. ที่ต่ำเพียง 0.5% ของตลาดรวม จึงแทบไม่จำเป็นต้องมีหุ้นกลุ่มนี้ในพอร์ต แต่ถ้าจะซื้อเลือกตัวที่ไม่มีความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยตรง และความผันผวนของกำไรอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตเริ่มเต็ม การขยายในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่นับช่วงโครงการรถคันแรกที่เริ่มในปี 2012 ซึ่งทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของทั้งกลุ่มยานยนต์เร่งตัวขึ้นแตะ 120-140% ในภาวะปกติจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 60-100% ปัจจุบันเร่งตัวขึ้นใกล้ระดับ 100% แล้ว

ทั้งนี้ ประเมินว่าการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตของทั้งอุตสาหกรรมจะยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเงื่อนไขการปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ทั่วโลก ซึ่งทำให้ผู้รับจ้างผลิตอย่างบ้านเราไม่กล้าลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆที่ไม่มีตลาดรองรับมากพอ การรอดูความชัดเจนจากผู้ผลิตรถยนต์ว่าจะเปลี่ยนเป็น EV เมื่อไหร่ ประกอบกับ ราคาชิ้นส่วนที่ผลิตได้จะต้องลดราคาทุกปี 2-3% เทียบกับปีก่อน เพราะไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ Upside การเติบโตของกลุ่มยานยนต์หลังจากนี้ค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกรถยนต์ถูกกดดันจากสงครามการค้าและความผันผวนของค่าเงิน ตลาดเอเชียยังน่าจะเป็นตลาดขับเคลื่อนหลักของยอดผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกในปี 2562 ยกเว้นจีนที่ถูกกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกราว 3-4% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบทั้งหมด

ส่วนตลาดออสเตรเลียและตะวันออกกลางขึ้นอยู่กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก คาดว่าจะถูกกดดันต่อเนื่องจากคาดการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ตลาดยุโรปและสหรัฐฯกำลังคุมเข้มกับการปล่อยมลพิษ ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ปี 2562 ยังถูกกดดันจากภาพมหภาคที่เป็นลบ โดยคาดว่าจะทรงตัวหรืออ่อนลง เทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่อัตราการเติบโตเริ่มชะลอลง

----------------------------

4 หุ้น โดนผลกระทบ 

Trade War..!! 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASP) กล่าวว่า หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ได้แก่ 1.กลุ่มปิโตรเคมี-น้ำมัน โดยคาดว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามาก ทำให้ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง

2.กลุ่มยานยนต์ คาดว่าในอนาคตหากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น อาจนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้าไทย ด้วยความต้องการจากภายในและนอกประเทศที่มาไม่พร้อมกัน ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ปีนี้ไม่โต แต่ “ข้อดี” ของกลุ่มคือ Valuation ที่ถูกมาก Current PER อยู่ที่ 11.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ 14.8 เท่า จึงยังสามารถเลือกลงทุนได้

3.กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีนที่ชะลอตัวลง โดยยอดการส่งออกของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมาสูงเป็นอันดับ 2 ราว 7.9% ของยอดส่งออกรวม

และ 4.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากกำลังซื้อบ้านและคอนโดฯของลูกค้าชาวจีนที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนอสังหาฯของชาวต่างชาติมีประมาณ 20-30% ของยอดขายรวม