ชงผล 'ไฮสปีด' เข้า กพอ. 'รฟท.' ลุ้นซีพีนาทีสุดท้าย

ชงผล 'ไฮสปีด' เข้า กพอ. 'รฟท.' ลุ้นซีพีนาทีสุดท้าย

ร.ฟ.ท.เตรียมชง กพอ.พิจารณาประมูลไฮสปีด 13 พ.ค.นี้ เผย “ซีพี” ยื้อสรุปร่างสัญญาอ้างหารือพันธมิตร ชี้กังวลการปฏิบัติตามสัญญาตลอดอายุ 50 ปี “วรวุฒิ” เปิดช่องยุติข้อพิพาท เล็งตั้งคณะกรรมการคุมบริหารรถไฟความเร็วสูง

คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้เริ่มเจรจาซอง 4 ข้อเสนอพิเศษของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) มาตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการประมูลแล้ว

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้พิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนขั้นสุดท้ายที่สำนักงานอัยการสูงสุดส่งกลับมาให้ เพื่อเสนอความคืบหน้าการประมูลให้กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในวันที่ 13 พ.ค.2562 พิจารณา

สำหรับการหารือร่างสัญญาดังกล่าวได้เชิญกลุ่มซีพีมาให้ความเห็นเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมพิจารณารายละเอียดถ้อยคำที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจแก้มา และกลุ่มซีพีได้นำร่างสัญญากลับไปพิจารณา และ ร.ฟ.ท.กำหนดให้ส่งข้อสรุปกลับมาให้ ร.ฟ.ท.ภายในวานนี้ (10 พ.ค.) ซึ่งจนถึงเวลา 20.00 น.กลุ่มซีพียังไม่ส่งหนังสือตอบรับร่างสัญญามา โดยกลุ่มซีพีต้องนำร่างสัญญาไปหารือกับพันธมิตรต่างชาติ แต่ก็เป็นคำตอบที่ดีต่อการประมูล

กังวลปฏิบัติตามสัญญา 50 ปี

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การหารือร่วมกันดังกล่าวมีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการตามสัญญา 50 ปี ที่ถือว่าเป็นระยะเวลานาน โดย ร.ฟ.ท.เห็นว่าไม่สามารถใส่รายละเอียดทั้งหมดไว้ในร่างสัญญาได้ ซึ่งทำให้ร่างสัญญาจะต้องมีช่องในการเจรจาเมื่อเกิดปัญหาระหว่างคู่สัญญา โดย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินโครงการ เพราะเป็นโครงการใหญ่จึงต้องมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการ ซึ่งในการประชุม กพอ.ครั้งล่าสุดเห็นชอบในหลักการตั้งหน่วยเฉพาะกิจบริหารโครงการในส่วนของรัฐ

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ร่างสัญญาดังกล่าวบรรจุเฉพาะประเด็นที่กำหนดในเอกสารเสนอโครงการ (อาร์เอฟพี) ส่วนประเด็นที่อยู่นอกเหนืออาร์เอฟพีจะมีการสรุปรายงานให้ กพอ.พิจารณาด้วย เช่น ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเงินของกลุ่มซีพี โดยถ้า กพอ.เห็นชอบก็รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) และลงนามภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ แต่ถ้า กพอ.ไม่เห็นชอบก็คงมีมติให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการใดต่อ

อัยการปรับสัญญาเล็กน้อย

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้หารือร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดส่งกลับมาให้ ร.ฟ.ท. ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดปรับถ้อยคำร่างสัญญาแต่ไม่มีผลต่อสาระสำคัญ และกลุ่มซีพีไม่เห็นด้วยกับการแก้บางถ้อยคำ เช่น “และ-หรือ” ที่ทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ ภายหลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้ว กลุ่มซีพีต้องตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการออกแบบงานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุง การติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง การเดินและการบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง และการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์บริเวณสถานี

ทั้งนี้ เอสพีวีที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องเป็นผู้ชนะการประมูลและมีนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 ราย ถือหุ้นมากกว่า 25% รวมทั้งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งก่อนเริ่มเดินรถจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท

เล็งพิจารณาคืนหลักประกันซอง

นอกจากนี้ กรณีที่กลุ่มซีพีไม่เห็นชอบกับร่างสัญญาร่วมลงทุนก็จะเป็นเหตุให้มีการยกเลิกการเจรจาได้ เพราะที่ผ่านมามีการเจรจากันมาต่อเนื่องตลอดแต่ไม่สามารถสรุปความเห็นร่วมกันได้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะเชิญกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์มาเปิดซอง 4 และเริ่มการเจรจากับบีเอสอาร์ โดยการที่กลุ่มซีพียกเลิกการเจรจาจะไม่มีผลกับกลุ่มซีพี เพราะการเจรจาเดินหน้าต่อไม่ได้แล้ว ส่วนค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอจะคืนให้กับเอกชนหรือไม่ต้องมาดูรายละเอียดหลังจากนี้

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่าในเอกสารยื่นข้อเสนอประมูล (อาร์เอฟพี) กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องชำระการประเมินข้อเสนอให้ ร.ฟ.ท. 2 ล้านบาท ในวันที่ 12 พ.ย.2561 และเงินดังกล่าวจะไม่คืนในทุกกรณี ส่วนเงินหลักประกันซองที่ผู้ยื่นซองทุกรายต้องยืน 2,000 ล้านบาท จะคืนให้ภายใน 15 วันนับจาก กพอ.เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยกรณีริบเงินหลักประกันซองมี 3 กรณี คือ 1.ผู้ยื่นซองขอถอนเอกสารข้อเสนอของตัวเอง 2.ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยอมรับการแก้ไขข้อมูลที่ ร.ฟ.ท.เสนอ 3.ผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับการคัดเลือกแต่ไม่ลงนามสัญญาร่วมลงทุน หรือไม่ยื่นหลักประกันสัญญาวงเงิน 4,500 ล้านบาท