สิ้นศิลปินแห่งชาติ 'ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ' ผู้เป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรม แบบประเพณี

สิ้นศิลปินแห่งชาติ 'ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ' ผู้เป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรม แบบประเพณี

สิ้นศิลปินแห่งชาติ "ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ" ศิลปินผู้เป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรม แบบประเพณี

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการสถาปัตยกรรมไทยสูญเสีย ศิลปินชั้นครู ผู้เชี่ยวชาญงานสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) คือ นายประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พุทธศักราช 2544 ที่จากไปด้วยอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลรามคำแหง เมื่ออาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 เวลาประมาณ 03.20 น. สิริอายุรวม 96 ปี โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เวลา 17.00 น. ณ ศาลา 9 วัดโสมนัสราชวรวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ และกำหนดสวดพระอภิธรรม ระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2562 เวลา 18.30 น. โดยมีกำหนดพระราชทานเพลิงศพวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.00 น. ณ เมรุวัดโสมนัสราชวรวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

อธิบดี สวธ. เผยต่อว่า ในส่วนของการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท

9824739873882

ด้านประวัติของนายประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พุทธศักราช 2544 เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2465 ท่านเป็นศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมไว้เป็นจำนวนมาก การเผยแพร่ผลงานจึงมีอยู่ทุกหนแห่งเป็นที่ประจักษ์ที่เหมาะสมและเป็นแบบอย่าง เนื่องด้วย ครอบครัวของท่านประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ มีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นช่างในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความเป็นเลิศทางงานช่างด้านศิลปะสถาปัตยกรรมที่ฝีมือสูงเด่น ตลอดจนมีครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้ ทำให้ได้รับอิทธิพลและได้รับการสืบทอด สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นมรดกแก่อนุชนและแผ่นดินเป็นจำนวนมาก

อาจารย์ประดิษฐ์ มีความรู้ความชำนาญทางด้านการออกแบบและตกแต่งเจดีย์ อุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กำแพง ซุ้มประตู การเขียนลวดลายบนบานประตู ฝาผนัง แกะสลักหยวกตกแต่งจิตกาฐาน ฯลฯ ซึ่งท่านได้สร้างสรรค์ผลงานตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ล้วนเป็นผลงานที่มีการพัฒนา การอนุรักษ์ การสืบสาน และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและของประเทศ เป็นที่ยอมรับในวงการช่างวิชาชีพและประชาชน เป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังดำเนินรอยตาม เพื่อสืบสานงานสถาปัตยกรรมแบบประเพณีให้ดำรงอยู่สืบไป จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พุทธศักราช 2544