สังคมไร้เงินสด 'ฉุด'จำนวนตู้เอทีเอ็ม‘ติดลบ’ครั้งแรกรอบ35ปี 

สังคมไร้เงินสด 'ฉุด'จำนวนตู้เอทีเอ็ม‘ติดลบ’ครั้งแรกรอบ35ปี 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยสังคมไร้เงินสดเริ่มส่งผล คนใช้บริการสาขาและตู้เอทีเอ็มน้อยลง ส่งผลจำนวนตู้เอทีเอ็ม และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของแบงก์ในปี 2561 เติบโตลดลง และ “ติดลบ”เป็นครั้งแรกรอบ 35ปี

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า  ในปี 2561 จำนวนตู้เอทีเอ็มและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์มีจำนวน 57,554 เครื่อง มีอัตราการเติบโตติดลบ 0.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงจาก 5.17%จากปี2560และเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 35 ปี นับจากการติดตั้งเอทีเอ็มเครื่องแรกในประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สะท้อนว่าบทบาทของตู้เอทีเอ็มที่มีต่อธนาคารพาณิชย์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากในอดีตที่ตู้เอทีเอ็มนับเป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม แต่ในปัจจุบันธนาคารแต่ละแห่งแข่งขันกันพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นเพื่อการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ส่งผลให้ปริมาณการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏบนช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกระทบต่อสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารจากการใช้ตู้เอทีเอ็มให้มีสัดส่วนที่เล็กลง ขณะที่ปริมาณการถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ลดลงจากสิ้นปี 2560 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้เงินสดของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

ส่งผลให้การประกอบธุรกิจเอทีเอ็มของธนาคารในปัจจุบันเริ่มเกิดความไม่คุ้มค่าจากปริมาณการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มที่ลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องทบทวนบทบาทของตู้เอทีเอ็มในปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตามหากความต้องการใช้เงินสดลงลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นปัจจัยเร่งให้การประกอบธุรกิจเอทีเอ็มในอนาคตอาจเกิดขึ้นในลักษณะการใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกันระหว่างธนาคารเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทุก ๆ การลดลง5% ของจำนวนตู้เอทีเอ็มที่มีทั่วประเทศในปัจจุบัน จะช่วยลดต้นทุนทั้งหมดในการประกอบธุรกิจเอทีเอ็มให้แก่สถาบันการเงินทั้งระบบได้ 5,220 – 5,880 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.03% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)โดยประมาณ  อย่างไรก็ดี ต้นทุนที่จะลดลงยังคงขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้เอทีเอ็มร่วมกันในอนาคตตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่จะประกาศใช้ในระยะข้างหน้า และการเจรจาร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง