ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 29 เม.ย.-3 พ.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 22-26 เม.ย.62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 29 เม.ย.-3 พ.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 22-26 เม.ย.62

ราคาน้ำมันดิบคาดทรงตัวในระดับสูง จากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบขาดตลาด

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 เม.ย. – 3 พ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบโลกอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หลังสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน ประกอบกับ ผู้ผลิตกลุ่มโอเปคยังคงร่วมมือกันในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง และซาอุดิอาระเบียไม่มีทีท่าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ หลังสหรัฐฯ ห้ามประเทศต่างๆ นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะได้รับความกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าระดับ 5 ปีเฉลี่ย ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกของเวเนซุเอลาคาดปรับเพิ่มได้บ้าง หลังแหล่งผลิตไฟฟ้าในเวเนซุเอลาเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง    

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังสหรัฐฯ ประกาศจะไม่ขยายเวลาการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 2 พ.ค. 62 ให้แก่ 8 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี อิตาลี และกรีซ โดยสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะกดดันอิหร่านให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เลย โดยจะทำการคว่ำบาตรประเทศที่ทำการซื้อขายน้ำมันดิบกับอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านขู่ว่าจะทำการตอบโต้โดยการปิดช่องแคบฮอร์มุซ (The Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันทางเรือหลักของภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้การขนส่งน้ำมันดิบอาจหยุดชะงักได้
  •  ปริมาณน้ำมันดิบจากผู้ผลิตกลุ่มโอเปคมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นำโดยการปรับลดกำลังการผลิตและปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.พ. 62 ปรับตัวลดลงจากเดือน ม.ค. 62 ราว 227,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 6.977 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มที่จะคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ราว 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าสหรัฐฯ ประกาศหยุดผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียระบุว่าจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ หากน้ำมันดิบขาดตลาด
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกคาดจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD Oil Inventory) ในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 2,871 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 5 ปีเฉลี่ยเล็กน้อย ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงรักษากำลังการผลิตน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับสูงที่ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 19 เม.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 460 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1.5 ปี
  • ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากแหล่งผลิตไฟฟ้าสำหรับแหล่งส่งออกน้ำมันดิบเวเนซุเอลาจะสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง หลังเวเนซุเอลาประสบปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากเวเนซุเอลาปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. 62 ที่ผ่านมา
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพี Q1/62 ยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตจีน ดัชนีภาคการผลิตและการบริการสหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 เม.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการผ่อนปรนการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน หลังมาตรการผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่านจะสิ้นสุดลงหลังวันที่ 2 พ.ค. 62 ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบจากลิเบียปรับตัวลดลง นอกจากนี้ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 8 แท่น ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 18 เม.ย. 62 อยู่ที่ 825 แท่น ซึ่งการปรับลดลงของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสามารถบอกถึงปริมาณการผลิตที่ลดลงในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ซาอุดิอาระเบียและกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบอาจปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันโลก