บี.กริม Big Jump พลังงานทดแทนอาเซียน

บี.กริม Big Jump พลังงานทดแทนอาเซียน

ซุ่มปักธงผลิตไฟฟ้า หลายประเทศในอาเซียน จนสัมพันธ์ “ทุน-รัฐ” แน่นปึ้ก ได้เวลา “บี.กริม เพาเวอร์” ทะยานสู่ผู้นำผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทน“อาเซียน” หลังคว้าบิ๊กดีล“เวียดนาม” 

บี.กริม (B.Grimm) หนึ่งในผู้บุกเบิกด้านโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและดำเนินธุรกิจในไทยมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2421 หรือกว่า 141 ปี ยิ่งเมื่อรัฐบาลไทยเปิดทางให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเมื่อปี 2538 เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้น บี.กริม จึงไม่พลาดที่จะโดดสู่สังเวียนนี้ 

โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทลูก บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เมื่อ 24 ปีก่อน โครงการโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2541

ขณะที่ก้าวสำคัญของธุรกิจยังเกิดขึ้น เมื่อบี.กริม เพาเวอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560 ในนามบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กลายเป็น จุดเปลี่ยน ทำให้ธุรกิจโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะการเพิ่มน้ำหนักออกไปลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ

โดยปัจจุบัน บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น 42 แห่ง แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 17 แห่ง ,โรงไฟฟ้าพลังงงานแสงอาทิตย์ 22 แห่ง ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 2 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ผลประกอบการล่าสุดในปี 2561 มีรายได้ 36,585 ล้านบาท เติบโต 16.2%

ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เล่าว่า เข้ามาทำงานที่บี.กริม มาตั้งแต่ปี 2535 ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ (ปี2540) คู่กับเจ้าของ ฮาราล ลิงค์ ประธานกลุ่มธุรกิจบี.กริม และประธานกลุ่ม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จนกระทั่งขยับมาบุกเบิกธุรกิจพลังงานหลากหลายในอาเซียน 

โดยแผน 5ปีแรกหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าจะพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์ (ภายในปี 2565)  โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมแล้ว 3,126 เมกะวัตต์

“5,000 เมกะวัตต์เป็นเป้าหมาย5ปีแรกภายหลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ อาจจะต้องทบทวนตัวเลขใหม่ เพราะแค่ปีกว่าๆ เราก็มีกำลังการผลิตติดตั้งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวม 3,126 เมกะวัตต์” ปรียนาถ เปิดฉากเล่าถึงความเนื้อหอมของบี.กริม เพาเวอร์ในอาเซียน ที่สวนทางกับสถานการณ์การผลิตพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ที่ยังอยู่ในภาวะอึมครึม หลัง ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่งสัญญาณชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง5ปีจากนี้ นำไปสู่การปรับแผนธุรกิจของบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนกันจ้าละหวั่น 

รวมถึง บี.กริม เพาเวอร์ ที่ไม่รอช้า รุดปรับแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ขยายไปสู่ต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในประเทศในพลังงานหลัก (ก๊าซธรรมชาติ) !!!

นายหญิงแห่งบี.กริม เพาเวอร์ ขยายความว่า แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภายในประเทศจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) โดยมีลูกค้าหลักคือ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีแผนย้ายฐานการผลิตมาไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ส่วนแผนการรุกตลาดต่างประเทศ ในระหว่างพลังงานทดแทนในประเทศชะลอตัว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ต่างประเทศกำลังมุ่งพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อสอดคล้องกันกับเทรนด์โลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยบี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปปักธงลงทุนพัฒนาไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมแล้วในบางประเทศ จึงไม่ยากที่จะแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจพลังงานหลากหลายด้าน ประกอบด้วย โครงการพลังงานน้ำในสปป. ลาว ที่มีแผนการผลิต 133 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 15 เมกะวัตต์

รวมไปถึง มีแผนพัฒนาโครงการสายส่ง พลังงานความร้อนร่วม, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์), และพลังงานลม ที่มีแผนเข้าไปพัฒนาในเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ และกำลังศึกษาลู่ทางในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา เป็นขั้นต่อไป

ส่วนประเทศ นอกกลุ่มอาเซียน อย่างเกาหลี และใต้หวัน “ปรียนาถ”บอกว่า กำลังเข้าไปพัฒนาพลังงานทดแทนมากขึ้น !

“ตัวเลขการพัฒนาไฟฟ้าที่เซ็นสัญญาไปแล้ว 3,126 เมกะวัตต์นั้น ยังไม่รวมกับสัญญาใหม่จากต่างประเทศ เช่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซียและอินโดนีเซียในโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ และโครงการพลังงานลม และพลังงานความร้อนร่วม” เธอย้ำและว่า 

ปีที่ผ่านมา ยังถือว่าปีของการเติบโตก้าวกระโดด (Big Jump) เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลางปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลเวียดนามเริ่มเปิดกว้างเพิ่มแหล่งพลังงานทดแทนเนื่องจากรัฐบาลเวียนามได้เซ็นสนธิสัญญาปารีส ลดโลกร้อน ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จึงเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนด้านพลังงานทดแทน

ที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปยึดหัวหาดพัฒนาโครงการไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมเบียนหัว ในเวียดนามมากว่า 20 ปี มีลูกค้า160ราย  ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปบุกเบิกพลังงานทดแทนในเวียดนาม ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา

ซีอีโอ บี.กริม เพาเวอร์ ยังระบุถึงแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าในเวียดนามว่า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซ่ว เตี้ยง 1 และ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซ่วเตี้ยง 2 (Dau Tieng 1 and Dau Tieng 2 Sola Plants) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 420 เมกะวัตต์ ถือเป็น“โซลาร์ฟาร์ม”ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่ที่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนาม โดยบี.กริม เพาเวอร์ ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ซวน ก่าว(XUAN CAU Company Limited)ประเทศเวียดนาม สัญญาระยะยาว 20 ปี

อีกโครงการคือ การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จังหวัด ฟูเยี่ยน เวียดนาม กำลังการผลิต 257 เมกะวัตต์ โดยความร่วมมือลงทุนระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ และ TTVN Group จากเวียดนาม โดยมีพันธมิตรอีกราย คือ ไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ บรรษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังานยักษ์ใหญ่จากจีน เข้ามาสนับสนุนการก่อสร้าง และเงินทุน

โดยทั้ง 2 โครงการมีกำลังการผลิตรวม 677 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างเพื่อให้พร้อมเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายใน30 มิ.ย.ปีนี้ เพราะโครงการพลังงานทดแทนที่เปิดภายหลังจากนี้ จะเปลี่ยนอัตราการรับซื้อไฟในรอบถัดไป (Tariff) จาก9.35 เซนดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ เป็น 8 เซ็นต์ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์

“ตอนนี้บี.กริม เพาเวอร์ กลายเป็นนักลงทุนผู้บุกเบิกด้านพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามและในอาเซียน 2 โรงไฟฟ้ารวมกันตามแผน และไม่หยุดแค่เพียงเท่านี้กำลังศึกษาด้านพลังงานลม อีก 200 เมกะวัตต์”

นี่คืออีกจุดเปลี่ยนสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าในต่างแดนจากปี2561 ในต่างประเทศมีกำลังการผลิต 364.2 เมกะวัตต์ จะเพิ่มเป็น 737 เมกะวัตต์หลังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่เวียดนาม ส่งผลให้สัดส่วนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.6% เป็น 24.2% ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศลดลง จาก98.4%ลดลงเหลือ75.8%

ผลดีอีกด้านคือ เกิดการกระจายความเสี่ยง  จากการผลิตไฟฟ้าหลากหลายประเภท กระจายในหลายพื้นที่ ไม่พึ่งพาพลังงานใดพลังงานหนึ่งมากเกินไป จากเดิมน้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม หรือ ก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วน91.9%ขณะที่โรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีสัดส่วน6.6% ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำมีสัดส่วน 0.9% และ โรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 0.6% โดยการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในเวียดนาม จะทำให้สัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมลดลงเหลือ70% พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นเป็น30%ในปี 2562 

ตามเป้าหมายของการปักธงพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะส่งผลทำให้สัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสัดส่วนลดลงเหลือ65%ภายในปี 2565 

เธอยังบอกด้วยว่า ยุทธศาสตร์ของการขึ้นเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าในเอเชีย ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เดินมาถูกทาง เพราะแนวโน้มการบริโภคไฟฟ้าในเอเชียเพิ่มขึ้นทุกปีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทนที่ทั่วโลกต่างก็หันไปใช้พลังงานสะอาด ตามเทรนด์ของโลก เพื่อลดโลกร้อน โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ถือว่าถูกที่ ถูกเวลา 

“เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยมที่มีทิศทางการพัฒนาไฟฟ้าด้านพลังงานทดแทนชัดเจน และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย5-7%ต่อปีในช่วง3ปีที่ผ่านมา ประชากรยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และวัยทำงานจึงมีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความต้องการไฟฟ้าก็มีมากขึ้น เพราะทางใต้ยังเกิดปัญหาไฟฟ้าไม่เสถียร”

ส่วนประเทศนอกกกลุ่มอาเซียน เกาหลี และไต้หวัน บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ระหว่างเข้าไปศึกษาโอกาสการพัฒนาพลังงานทดแทนมีการเซ็นสัญญาทำความตกลง (MOU)กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเกาหลี (Korea Electric Power Corporation – KEPCO)สร้างกรอบความร่วมมือกักเก็บและจำหน่ายพลังานไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและพัฒนาระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจริยะแบบครอบวงจร (Smart Grid)ซึ่งบี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยในเกาหลี ชื่อบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (เกาหลี ) จำกัด (B.Grimm Power (Korea) Limited)ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้น 100%รอโอกาสการ่วมทุนในอนาคต

***สัมพันธ์แน่น-ธุรกิจแกร่ง 

กลยุทธ์ในการปักธงในต่างแดนสำหรับบี.กริม เพาเวอร์ เริ่มจากการสร้างเพื่อนเปิดประตูธุรกิจ นั่นคือ การมีพันธมิตรธุรกิจ และผู้ร่วมทุน ที่ต่างมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้นำรัฐบาล กระจายอยู่ในทุกประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจให้บี.กริมฯ สร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างแดน

อีกทั้งทุกโครงการที่เข้าไปพัฒนา จะต้องทำสัญญาระยะยาวไม่ต่ำกว่า 20 ปี เพื่อความมั่นคงในการพัฒนาธุรกิจหารายได้ในระยะยาว 

การไปต่างประเทศ ต้องมีพันธมิตรแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเวียดนามเราเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนามกว่า20ปี มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง เมื่อรัฐบาลเปิดก็พร้อมรุกไปลงทุน ส่วนตัวบี.กริมฯ ก็มีโนว์ฮาวในด้านพลังงาน เป็นตัวจริงในธุรกิจผลิตไฟฟ้า

เมื่อบี.กริม เพาเวอร์ ประกบกับเจ้าของธุรกิจชั้นนำในเวียดนามซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลาย ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน โดยมีกลุ่มผู้นำด้านพลังงานจากจีน 2 ราย ได้แก่ ไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ ผู้พัฒนาโครงการขนาดยักษ์ในจีน เข้ามาเป็นผู้รับเหมา และสนับสนุนด้านเงินทุนในต่างประเทศ เป็นแรงขับเคลื่อนให้เดินไปลงทุนนอกประเทศได้อย่างมั่นใจ ไม่ใช่โนเนม

“การเข้าลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีไชน่า เอ็นเนอร์ยี่คอยสนับสนุน เช่น โครงการที่เวียดนาม บี.กริมฯ จะเข้าลงทุนโดยการเป็นเจ้าของโครงการ โดยมีไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ รับหน้าที่ก่อสร้าง โดยใช้ศักยภาพด้านเงินทุนและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ช่วยลดข้อจำกัด และความเสี่ยงในการลงทุน อีกทั้งการพัฒนาโครงการยังรับประกันคุณภาพงาน รับรองประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่แน่นอน”

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-river)ในสปป.ลาว หลังจากเกิดผลกระทบน้ำท่วมจากปัญหาเขื่อนแตก ทำให้รัฐบาลในลาวเริ่มกลับมาทบทวนโครงการที่มุ่งเน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการที่บี.กริมฯ เข้าไปพัฒนาจึงเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่ต้องตัดป่าไม้ และอพยพผู้คน แต่บี.กริมฯ ยังไม่มีแผนขยายการลงทุน เพราะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายของภาครัฐเป็นหลัก

ส่วนในเมียนมา กำลังรอโอกาสและจังหวะ เมื่อการเมืองในเมียนมานิ่ง เพราะความต้องการโรงไฟฟ้าในเมียนมามีสูง แต่การเมืองยังไม่เปิดกว้างให้ภาคธุรกิจต่างชาติเข้าไปมากนัก ในระหว่างรอความชัดเจนทางการพัฒนาพลังงาน จึงเข้าไปศึกษาวิธีการนำเทคโนโลยีลำเลียงก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลายเป็นไอ ซึ่งเกิดประโยชน์สำหรับโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ทะเล สามารถต่อท่อหรือเคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าก็นำไปใช้ได้ทันที

เทคโนโลยีใหม่ในการลำเลียงก๊าซธรรมชาติเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีท่อก๊าซ และสายส่งไม่เยอะ ช่วยให้สร้างโรงไฟฟ้าตามเกาะแก่ง สถานที่ท่องเที่ยวได้ง่าย

------------------------------

เปิดโผ 3 โอกาสใหม่ในประเทศ

ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงโครงการในประเทศไทยว่า  ปลายเดือนก.พ.ผ่านมา ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซื้อหุ้นใน บริษัท โกลว์ เอสพีพี1(Glow SPP1)จำกัด โดยบริษัทลูก บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง) จำกัด ซื้อขาย หุ้น กับบริษัท โกลว์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จ ากัด (มหาชน) โดยการถือหุ้น100% มูลค่า 3,300 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า โกลว์เอสพีพี1 ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (โคเจนเนอเรชั่น) กำลังการผลิต 124 เมกะวัตต์

รวมไปถึงโครงการที่พัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ล่าสุดได้เข้าไปจัดทำข้อเสนอดำเนินโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็นพื้นที่อากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ที่จะมีแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้ารูปแบบผสมผสาน (Hybrid) )ซึ่งจะมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานสูงสุด แบ่งเป็น2ระยะ

โครงการระยะที่ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม80เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน15เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 50เมกะวัตต์ชั่วโมง

โครงการระยะที่ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม80เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือบนหลังคา หรือแบบลอยน้ำ55เมกะวัตต์ โดยมีระยะเวลาในการพัฒนาและดำเนินการก่อสร้างระยะที่1ระหว่างปี2561 – 2564และระยะที่2ระหว่างปี2564 –2566