'เกาหลี' รุกเมกะโปรเจค

'เกาหลี' รุกเมกะโปรเจค

ทูตเกาหลีใต้พบ "สมคิด" ชี้สนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี-สมาร์ทซิตี้ เสนอจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ดึงบีโอไอ รมว.เศรษฐกิจโรดโชว์เกาหลีให้ข้อมูล แย้มสนประมูล 5 จีในไทยระบุเอกชนเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ

การลงทุนจากเกาหลีใต้ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับการลงทุนจากญี่ปุ่น แต่หลังจากนี้มีแนวโน้มการลงทุนในไทยมากขึ้น โดยจะเป็นคลื่นลูกที่ 2 ของการลงทุนจากเกาหลี หลังจากคลื่นลูกที่ 1 ที่เป็นบริษัทใหญ่ของเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย และขณะนี้กำลังเป็นคลื่นลูกที่ 2 เป็นการลงทุนจากเอสเอ็มอีเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอี อุก-ฮ็อน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เอกอัครราชทูตเกาหลีได้เข้ามาหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดยที่ผ่านมาไทยกับเกาหลีใต้มีกำหนดการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี-ไทย (Korea-Thailand Committee on Economic Cooperation หรือ KOTCOM) ในปลายปี 2561 แต่เกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงเลื่อนการประชุมออกไป

\'เกาหลี\' รุกเมกะโปรเจค

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตเกาหลีเสนอให้รัฐบาลไปเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ โดยอาจหลังเลือกตั้งเพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนเกาหลีที่จะมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่นักลงทุนชาวเกาหลีใต้สนใจมาก

“เกาหลีใต้บอกว่าอยากให้รัฐบาลไปให้ข้อมูลกับนักธุรกิจ ซึ่งบอกไปว่าเป็นโอกาสดีและให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดิจิทัลอีโคโนมี ไปให้ข้อมูลซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้เขามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น”นายสมคิดกล่าว

สนตั้งแบงก์เกาหลีใต้ในไทย

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเกาหลี ได้กล่าวว่าภาคเอกชนของเกาหลีใต้สนใจที่จะเข้ามาเปิดสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อรองรับธุรกรรมการทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นในไทยหลังจากปิดสถาบันการเงินในไทยไปตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งได้แนะนำให้ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาถึงโอกาสและความเป็นไปได้

นายอี กล่าวว่า ได้หารือกับนายสมคิดถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้นักลงทุนเกาหลีใต้สนใจลงทุนในไทยหลายด้าน โดยเฉพาะการลงทุนต่อเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในโครงการอีอีซี ซึ่งสนใจเข้ามามีส่วนร่วมใน 5 โครงการหลัก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

รวมทั้งสนใจโครงการทั้งในและนอกอีอีซี เช่น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) และโครงการประมูล 5 จี ซึ่งเกาหลีใต้รอการเปิดประมูลที่ชัดเจน เพราะเป็นธุรกิจที่เอกชนเกาหลีใต้เชี่ยวชาญ

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีฯยังกล่าวด้วยว่าอยากให้มีการจัดการประชุม KOTCOM ขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้ 2 ประเทศ รวมทั้งได้แจ้งให้รองนายกรัฐมนตรีของไทยทราบว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้ นาย มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ จะเดินทางมาร่วมประชุมฯด้วย

คลื่นลงทุนเกาหลีใต้ลูกที่ 2

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกาหลีใต้ที่มาลงทุนในไทยช่วงนี้ ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักกลอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ โดยในคลื่นลูกแรกช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ในขณะนี้เป็นการเข้ามาลงทุนในคลื่นลูกที่ 2 จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับผู้ผลิตรายใหญ่จะทยอยเข้ามาลงทุนมากขึ้น

“บีโอไอคาดว่าหลังจากนี้จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกาหลีใต้จะเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้นทุนค่าแรงที่เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับรัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้เข้ามาลงทุนในอาเซียน และต้องการขยายตลาดในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น จึงมั่นใจว่าตัวเลขการลงทุนจากเกาหลีใต้ในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อนๆ ที่มีมูลค่า 4-5 พันล้านบาท”

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีเกาหลีใต้ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นชิ้นส่วนรถยนต์แห่งอนาคต รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากหลากหลายประเทศ ก็จะยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้ค่ายรถยนต์เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เพราะมีชิ้นส่วนให้เลือกซื้อหลายราย ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการดึงเทคโนโลยีเข้าประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าไทย

สนลงทุนสมาร์ทซิสเต็ม

นายนฤตม์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีอุตสาหกรรมสมาร์ท ซิสเท็มส์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในสมาร์ทซิตี้ มีโอกาสเข้ามาลงทุนได้อีกมาก ซึ่งจะเข้าไปชวนให้เข้ามาลงทุนพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ด้านสมาร์ทซิตี้ในไทย พัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับสมาร์ทซิตี้ในแต่ละพื้นที่ หากกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในไทย ก็จะต้องร่วมทำงานกับผู้ประกอบการชาวไทย ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปคุยแล้ว 4-5 ราย ได้รับการตอบสนองดีมาก โดย บีโอไอ จะหาผู้ประกอบการสมาร์ทซิตี้ชาวไทยเข้าไปร่วมกับเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมชีวภาพด้านเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายดึงดูดการลงทุน ก็มีโอกาสสูงมากที่จะเข้มาลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุนกับผู้ประกอบการชาวไทย

ทั้งนี้ หลังจากในปีที่ผ่านมาได้มีคณะนักธุรกิจกลุ่มใหญ่กว่า 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูง เข้ามาเยือนไทย ทำให้มีคณะนักธุรกิจคณะเล็กๆ รายกลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มจังหวัดทยอยเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุนในไทย ทำให้มั่นใจว่าในอนาคตนักลงทุนจากเกาหลีใต้จะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ บีโอไอ จะนำคณะไปดึงดูดการลงทุนเจาะเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ปูซาน และชังวอน