เกมรุก “สยามเวลเนสกรุ๊ป” หุ้นสปามาร์เก็ตแคป“หมื่นล.”

เกมรุก “สยามเวลเนสกรุ๊ป” หุ้นสปามาร์เก็ตแคป“หมื่นล.”

เป็นหนึ่งในธุรกิจติดเทรนด์โลก! สำหรับ“สปา & นวดเพื่อสุขภาพ” “สยามเวลเนสกรุ๊ป” หุ้น SPA คนไทย มาร์เก็ตแคปแตะ“หมื่นล้าน” แม่ทัพใหญ่ “วิบูลย์ อุตสาหจิต” ปูทางรับ“โอกาสทอง”เร่งขยายสาขา รับดีมานด์จีนฟื้น

การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การแข่งขันสูง ส่งผลให้ระดับความเครียดในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น !! และกำลังเป็นปัญหาของคนวัยทำงาน 

โดยหนึ่งในทางเลือกในการบำบัดปัญหาดังกล่าว นั่นคือ การทำสปา & นวดเพื่อสุขภาพ ที่ปัจจุบันคะแนนความนิยมเป็นกราฟชันไต่ระดับเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี บ่งชี้ผ่านตัวเลขการเติบโตต่อเนื่อง 

สอดรับกับภาครัฐที่ประกาศนโยบายผลักดันธุรกิจบริการสุขภาพในระยะ 5 ปี (2552-2556) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น “Spa Capital of Asia” ยิ่งช่วยผลักดันการสร้างมาตรฐานให้กับ ธุรกิจสปาไทย” ขยายตัวทั้งในด้านบริการและรายได้

จากสถิติในช่วงที่ผ่านมาพบว่า อุตสาหกรรมสปาเมืองไทย มีตัวเลขการเติบโตขึ้นทุกปี โดย สมาคมสปาไทย รายงานภาพรวมธุรกิจสปาไทยในปี 2560 ว่ามี มูลค่า 3.85 หมื่นล้านบาทเติบโตขึ้นจากปี 2559 ที่มีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นธุรกิจที่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศต้องการบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นไปในทิศทางเดียวกับความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสปาที่เพิ่มสูงขึ้น

สอดคล้องกับ นโยบายของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ที่สนับสนุนแคมเปญท่องเที่ยว วิถีไทย มุ่งเน้นจับกลุ่มนักท่องเที่ยว คุณภาพ ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวจะมีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท 

โดยธุรกิจสปาเมืองไทยขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยเติบโตราว 5-10% มีมูลค่าตลาดที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ติดอันดับ 16 ของโลกและเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย เป็นรองเพียงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย เท่านั้น

ดังนั้นธุรกิจสปาซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลกจึงเป็น ดาวเด่น ดวงใหม่ที่มี รายได้-กำไร เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไทยมีธุรกิจสปาและนวดเพื่อสุขภาพมากกว่า 13,514 ราย และแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่ามีหุ้นสปาให้เลือกลงทุนเพียง 1 บริษัทเท่านั้น คือ บมจ. สยามเวลเนสกรุ๊ป หรือ SPA หรือ ชื่อเดิม "บริษัท บลูมมิ่งสปา จำกัด" ผู้นำด้านธุรกิจสปาที่ครบวงจรที่สุดของไทย โดยมี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ Market Cap แตะระดับ หมื่นล้านบาท” ในปี 2560

ขณะที่ ตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2559-2561) พบว่าโดยเฉลี่ยมีกำไรสุทธิและรายได้เติบโตทุกๆ ปี โดยมี กำไรสุทธิ อยู่ที่ 140.96 ล้านบาท 175.17 ล้านบาท และ 205.60 ล้านบาท มี รายได้ อยู่ที่ 739.12 ล้านบาท 962.39 ล้านบาท และ 1,152.49 ล้านบาท ตามลำดับ

วิบูลย์ อุตสาหจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สยามเวลเนสกรุ๊ป หรือ SPA บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสปาเมืองไทยปีนี้ว่า มีโอกาสขยายตัวเฉลี่ยราว 5-10%” เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งในด้านสถานที่ให้บริการและรายได้จากการประกอบกิจการ เนื่องจากไทยมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สถานที่ และทรัพยากร 

ประกอบกับมีบริการที่สนับสนุนสุขภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ อาทิ นวดไทย การใช้สมุนไพรไทย และสิ่งสำคัญที่เป็น จุดเด่น ของเมืองไทย คืออัธยาศัยและมารยาทในการให้บริการ ทำให้ธุรกิจบริการในสาขานี้มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง

สปาเป็นธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพในฐานะเป็น บริการที่ส่งออกทั้งในรูปแบบการรองรับชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในประเทศ การออกไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงการส่งบุคลากรเดินทางไปให้บริการในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังเป็นธุรกิจที่สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวในสาขาบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยว สินค้าสุขภาพ เป็นต้น ส่งผลให้มีเงินตราไหลเข้าประเทศจากธุรกิจในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มกลับมาตั้งแต่ปลายปี 2561 และต่อเนื่องมาในไตรมาส 1 ปี 2562 โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยว ชาวจีน ที่เป็นสัดส่วนลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าชาว ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และลูกค้าชาวยุโรป โดยปัจจุบันสัดส่วน ลูกค้าต่างชาติ ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 75% ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นลูกค้าคนจีน 55% อีก 20% เป็นลูกค้าประเทศอื่นๆ ส่วนลูกค้าคนไทย คิดเป็นสัดส่วน 25%

ปัจจุบัน สยามเวลเนสกรุ๊ป แบ่งธุรกิจออกเป็น 4 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจสปา ดำเนินการให้บริการ แก่ลูกค้าชาวไทย และชาวต่างชาติ ภายใต้แบรนด์ “RarinJinda Wellness Spa” , “Let ’ s Relax” และ “บ้านสวน มาสสาจ”

2.ธุรกิจโรงแรม และร้านอาหารดำเนินงานโดยบริษัท สยามเวลเนสรีสอร์ท จำกัด (SWR) ดำเนินธุรกิจบูติก โฮเทล รีสอร์ท ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม “โรงแรม ระรินจินดา เวลเนส สปา รีสอร์ท” (RarinJinda Wellness Spa Resort) และร้านอาหารในนาม “Deck1” และ “D Bistro"

3.ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปาดำเนินงานโดย บริษัท สยามเวลเนสแล็บ หรือ SWL ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปาภายใต้แบรนด์ “Blooming” สำหรับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ และดำเนินงานโดยบริษัท ไทยเกอร์อายส์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TGT ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปานำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ

และ 4.กิจการโรงเรียนเกี่ยวกับนวดแผนไทย ดำเนินกิจการโดย บริษัท สยามเวลเนส เอ็ดยูเคชั่น จำกัด หรือ SWE ดำเนินธุรกิจโรงเรียนเกี่ยวกับการสอนนวดแผนไทย ในนาม “โรงเรียนสอนแผนไทยบลูมมิ่ง” เพื่อให้บริการฝึกอบรมบริการนวดและสปาแก่พนักงานเทอราพิสต์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของบริษัทและ บริษัท ไทยเกอร์อายส์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในนาม “โรงเรียนสอนความงามและสปา ไทยเกอร์อายส์” เพื่อให้บริการฝึกอบรมบริการนวดและสปาแก่พนักงานเทอราพิสต์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของบริษัทและลูกค้าองค์กรของ TGT

สัดส่วนรายได้ธุรกิจของบริษัทคิดเป็น ธุรกิจสปา คิดเป็น 84% ขณะที่พอร์ตธุรกิจหลักธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร คิดเป็น 5-6% ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา คิดเป็น 6% และที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ 4%”

ซีอีโอ สยามเวลเนส กรุ๊ป เล่าต่อว่า สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ ตั้งงบลงทุนไว้ราว 200-250 ล้านบาท โดยบริษัทมีเป้าหมายจะต่อยอดแคมเปญครบรอบ 20 ปี โดยใช้แคมเปญ “The Master of Relaxation” โดยจะเน้นขยายธุรกิจสปาใน ทุกมิติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20 % จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,152.49 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตของรายได้ทั้งสาขาเดิมและสาขาที่เปิดใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ

รวมถึง “2 ธุรกิจใหม่” ที่เปิดตัวในปีก่อน นั่นคือ การเข้าซื้อหุ้น บริษัท ชบา เอลลิแกนซ์ จำกัด หรือ CHABA จำนวน 349,600 หุ้น มูลค่าที่ตราไวหุ้นละ100 บาท คิดเป็นสัดส่วน 76% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วของ CHABA โดย CHABA ดำเนินธุรกิจให้บริการทำเล็บ สปามือ-เท้า และต่อขนตา ภายใต้ชื่อ “Chaba Nails & Spa” ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมด 9 สาขา ซึ่งในปีมีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มอีก และตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ปีนี้อยู่ที่ 5% หลังลูกค้าให้การตอบรับที่ดีมาก

และ ธุรกิจยืดกล้ามเนื้อ ภายใต้แบรนด์ สเตรช มี บาย เล็ทส์ รีแล็กซ์” (Stretch me by Let’s Relax) สตูดิโอยืดกล้ามเนื้อแห่งแรกในไทย ซึ่งแตกต่างไปจากบริการเวลเนสฯ อื่นๆ หรือร้านสปานวดทั่วไป ที่ให้บริการนวด รีดเส้น กดจุด คลายกล้ามเนื้อ เพื่อความผ่อนคลาย เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 สาขา และในปีนี้กำลังพิจารณาเปิดสาขาเพิ่มอีก

อนึ่ง สยามเวลเนสกรุ๊ป มีจำนวนสาขาทั้งหมด 57 สาขา แบ่งเป็น “ระรินจินดา เวลเนส สปา” ซึ่งเป็น สปาระดับ 5 ดาว จำนวน 3 สาขา “Let's Relax” สปาระดับ 4 ดาว จำนวน 40 สาขา (34 สาขาในประเทศและ 6 สาขาต่างประเทศ) “Baan Suan Massage” ร้านนวดระดับ 3 ดาว จำนวน 10 สาขา “Stretch me by Let's Relax” จำนวน 3 สาขา และFace Care by Let's Relax จำนวน 1 สาขา

ขณะที่ สาขาใน ต่างประเทศ ที่จีนและกัมพูชา ภายใต้รูปแบบแฟรนไชส์ และล่าสุดปิดดีลขายแฟรนไชส์ธุรกิจสปาไปที่เมียนมา และสาขาที่ 2 ที่เมืองชิงต่าว โดยคาดว่าสาขาแรกที่เมืองย่างกุ้งและสาขาที่สองที่เมืองชิงต่าวจะเปิดในไตรมาส 3 ปีนี้

"เราแฮปปี้กับผลงานที่ออกมา ทั้งรายได้และกำไรสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งผลงานในปี 2561 ที่เติบโตอย่างน่าประทับใจ แม้มีข่าวลบที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3-4 ที่ผ่านมา อาทิ เรือล่มที่ จังหวัดภูเก็ต

นอกจากนี้ บริษัทยังเร่งการทำตลาดเชิงรุก จัดให้ประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมและสนับสนุนการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ทั้งด้านการลงทุน/ร่วมทุนจัดตั้งธุรกิจ การสร้างเครือข่ายและสร้างแบรนด์ให้เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งการผลักดันดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจสปาและนวดไทยมีชื่อเสียงและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และกลายเป็นธุรกิจบริการอีกสาขาที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต 

ท้ายสุด วิบูลย์” ยังฝากไว้ว่า เป้าหมายของบริษัทต้องการก้าวขึ้นเป็น ผู้นำในธุรกิจสปาของเอเชีย และต้องการขยายธุรกิจการให้บริการสปาเพื่อสุขภาพเพื่อให้บริการครบทุกความต้องการของลูกค้าในกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นให้พนักงานของบริษัทผ่านการฝึกอบรมที่ดีและมีมาตรฐานของบริษัท เพื่อให้บริการลูกค้าเกิดความประทับใจและเกิดการบริการซ้ำ