เปิดหลักเกณฑ์เกษตรกร 'ปลูกกัญชา'

เปิดหลักเกณฑ์เกษตรกร 'ปลูกกัญชา'

เปิดหลักเกณฑ์เกษตรกร "ปลูกกัญชา"

หลังจากที่พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ซึ่งเป็นการคลยล็อกให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้น เกิดกระแสขึ้นอย่างมากในการที่คนไทยจะปลูกกัญชา โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่มุ่งจะให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ “ขณะนี้ประเทศไทยยังไฟเขียวให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อการอื่น”


อนุญาตปลูก 7 วัตถุประสงค์เท่านั้น


เมื่อพิจารณาตามพ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบกับ(ร่าง)กฎกระทรวงสาธารณสุข การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา กำหนดไว้ชัดเจนว่าในการผลิตจะอนุญาตในวัตถุประสงค์ 7 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ 1.เพื่อใช้ทางการแพทย์ในประเทศ 2.เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทางด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม 3.เพื่อประโยชน์ทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและความร่วมมือระหว่างประเทศ


4.เพื่อการผลิตเพื่อส่งออก 5.เพื่อการผลิตสำหรับคนไข้เฉพาะรายของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน 6.เพื่อการผลิตที่ไม่ได้ผ่านการรับรองตำรับเพื่อรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และ7.กรณีผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศนำติดตัวเข้ามาในหรือออกนอกประเทศสำหรับใช้รักษาเฉพาะตัวภายใน 90 วัน
10 กลุ่มมีสิทธิขอปลูก-ผลิต


1.หน่วยงานของรัฐ 2.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์หรือเภสัชกรรม 3.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ 4. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน สัตวแพทย์ 5.ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำหรือสั่งเข้ามาซึ่งยาแผนปัจจุบัน ซึ่งยาแผนโบราณ ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพร 6.ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรม 7.เป็นคู่สัญญากับอย.เพื่อการจ้างผลิตหรือการจัดซื้อกัญชา 8.หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย 9.ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทางด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม และ10.ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทางการแพทย์

ขั้นตอนดำเนินการของเกษตรกร


ดังนั้น ประมวลได้ว่า หากเกษตรกรสนใจจะปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ใน 5 ปีแรกจะต้องดำเนินการ คือ 1.รวมกลุ่มเกษตรกรตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ 2.ประสานหน่วยงานของรัฐที่มีสิทธิ์ขออนุญาตในการผลิตและวิจัยกัญชาตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อขอเข้าเป็นกลุ่มผู้ปลูกที่จะนำส่งผลผลิตกัญชาให้หน่วยงานรัฐนั้นๆ เพราะตามกฎหมาย ในการขออนุญาตปลูก จะต้องแสดงปริมาณการขอปลูกและปลูกแล้วจะผลิตเป็นอะไร และส่งให้ใครเป็นผู้ผลิต เนื่องจากในการยื่นขออนุญาตปลูกจะต้องแสดงหนังสือที่แสดงว่าดำเนินการภายนใต้ความร่วมมือและการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง


3.ยื่นขออนุญาตผลิตปลูก พื้นที่กรุงเทพฯยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต่างจังหวัดยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และ4.จัดทำแหล่งปลูกตามหลักเกณฑ์ที่อย.กำหนดเกี่ยวกับการปลูกพืชกัญชา อาทิ ปลูกในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ในการปลูกทุกครั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ เนื้อเยื่อ หรือวิธีการตามที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น จัดทำแนวเขตพื้นที่การเพาะปลูกที่ชัดเจน พื้นที่ปลูกต้องยากต่อการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก มีระบบการควบคุมตามที่กำหนด จัดให้มีสถานที่รักษาความปลอดภัยของใบ ช่อดอก เมล็ดพันธุ์ป้องกันการสูญหาย จัดให้มีการทำบัญชีรับจ่ายและรายงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวมีการประชาพิจารณไปเมื่อวันที่ 26 ก.พ. สิ้นสุดทางออนไลน์วันที่ 1 มี.ค.2562 และนำเข้าสู่การพิจารณของคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษในวันที่ 8 มี.ค.ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดนี้ต่อไป โดยตามขั้นตอนของการออกกฎกระทรวงจะใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนอย.1556