ภัยไซเบอร์ระบาดหนักบน 'เว็บไซต์'

ภัยไซเบอร์ระบาดหนักบน 'เว็บไซต์'

ไม่ว่าจะกี่ปี ดูเหมือนว่าการโจมตีโดยภัยคุกคามไซเบอร์ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซ้ำร้ายยิ่งทวีความรุนแรง อาชญากรพัฒนาทักษะ วิธีการ ยกระดับความสามารถของตัวเอง มีการดึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเอไอ มาเพิ่มขีดความสามารถการโจมตีจนยากที่จะตามได้ทัน

แคสเปอร์สกี้ แลป รายงานว่า ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา สามารถตรวจจับและสกัดภัยคุกคามไซเบอร์ผ่านเว็บไซต์จากคอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานที่เข้าร่วมเครือข่าย "แคสเปอร์สกี้ ซิเคียวริตี้ เน็ตเวิร์ค" ในประเทศไทยได้กว่า 5,677,465 รายการ หรือสัดส่วน 22.8% โดยไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 75 ของโลกที่โดนโจมตีขณะใช้งานอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ สามารถตรวจจับและสกัดภัยคุกคามทั่วไปได้ 23,742,571 รายการ คิดเป็นจำนวนผู้ใช้จำนวน 47.9% ที่ถูกโจมตี รั้งอันดับที่ 79 ของโลก

สำหรับแหล่งที่มา มีเหตุการณ์ที่เกิดจากเซิฟเวอร์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 169,937 เหตุการณ์ คิดเป็นสัดส่วน 0.02% จากทั่วโลก โดยไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก ส่วนอันดับหนึ่งคือสหรัฐคิดเป็นตัวเลขสัดส่วน 45.12%

แนวโน้มดีแต่วางใจไม่ได้

เบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของแคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า เทียบในระดับภูมิภาคสถานะของไทยดีกว่าหลายๆ ประเทศ จากปัจจัยที่มีการเตรียมความพร้อมระบบรักษาความปลอดภัยไว้ค่อนข้างดี ภาคธุรกิจตระหนักรู้ ตื่นตัวลงทุน

นอกจากนี้ ประเมินได้จากตัวเลขเมื่อไตรมาสที่ 3 (เดือนก.ค.-ก.ย.) ซึ่งมีผู้ใช้ในไทยถูกโจมตีด้วยภัยคุกคามผ่านเว็บจำนวน 24.3% จัดอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก ย้อนไปไตรมาส 2 (เม.ย. – มิ.ย.) อยู่ในอันดับที่ 70 และไตรมาส 1 (ม.ค. – มี.ค.) อยู่ในอันดับที่ 61 ของโลก

“ผู้ใช้ในประเทศไทยนั้นมีความปลอดภัยมากขึ้นในด้านการถูกโจมตีออนไลน์และภัยคุกคามทั่วไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน แต่ทั้งนี้พึงตระหนักว่าไม่มีระบบใดที่ปลอดภัย 100% ทั้งประเทศไทยกำลังเติบโตด้านโครงสร้างไอซีทีอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจึงจำเป็นต้องปกป้องตนเองเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมออนไลน์ที่มีความเสี่ยงก่อนที่จะสายเกินไป”

ข้อมูลระบุว่า ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จัดอยู่ในอันดับที่แตกต่างกันไป ฟิลิปปินส์อันดับที่ 13 มาเลเซียอันดับที่ 24 อินโดนีเซียอันดับที่ 35 เวียดนามอันดับที่ 58 และสิงคโปร์อันดับที่ 142

คาดว่าปีนี้การลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในประเทศไทยจะเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก รับอานิสงค์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล 

แคสเปอร์สกี้พบด้วยว่าลูกค้ามีความต้องการลงทุนระบบที่แอดวานซ์ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น

หวังโตได้มากกว่าตลาด

สำหรับแคสเปอร์สกี้ ทิศทางธุรกิจในไทยปีนี้มุ่งโฟกัสตลาดองค์กร(บีทูบี) ด้วยเห็นโอกาสทางการตลาดเปิดกว้างรับปัจจัยบวกการเพิ่มขึ้นของภัยคุกคาม รวมถึงการตระหนักรู้ถึงเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่ดีขึ้นตามลำดับ

ผู้บริหารแคสเปอร์สกี้เผยว่า ปัจจุบัน ทำตลาดผ่านดิสทริบิวเตอร์ 3 รายประกอบด้วย วีเอสทีอีซีเอส, โกกรีน, และไอคอนเทค กล่าวได้ว่าทุกรายฐานลูกค้าที่แข็งแรง ครอบคลุมได้ทุกกลุ่มตลาดทั้งคอนซูเมอร์และเอ็นเตอร์ไพรซ์ 

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2562 จะเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก และเติบโตได้มากกว่าตลาดรวม ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้มาจากบีทูบี 40% บีทูซี 60% ขณะนี้ครองอันดับท็อป 3 ผู้ให้บริการโซลูชั่นซิเคียวริตี้ทั้งคอนซูเมอร์และองค์กร

การตรวจภัยคุกคามไซเบอร์ดังกล่าว มาจากแคสเปอร์สกี้ ซิเคียวริตี้ เน็ตเวอร์(KSN) ซึ่งเป็นระบบที่รวมเทคโนโลยีคลาวด์ไว้ในผลิตภัณฑ์สำหรับองค์กรและผู้ใช้ทั่วไปของแคสเปอร์สกี้ แลป ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติจากผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หลายล้านคนทั่วโลกที่สมัครใจร่วมส่งข้อมูล ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถตรวจจับมัลแวร์ขั้นสูงและมัลแวร์ใหม่ที่ไม่รู้จักมาก่อนได้อย่างรวดเร็วที่สุด